‘อาเซียน’จะไม่ใช้วิธีเผชิญหน้า’จีน’ นายกฯ’มาเลย์’ปัดข้อเสนอฟิลิปปินส์

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค แห่งมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานของสมาคมอาเซียนวาระปัจจุบัน แถลงในวันจันทร์ (27 เม.ย.) ว่า ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหลายจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าเผชิญหน้าโดยตรงกับจีน แต่ก็จะเร่งผลักดันให้ทำความตกลงกันในเรื่องแนวทางปฏิบัติซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อกำกับควบคุมพฤติกรรมของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในน่านน้ำซึ่งพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอยู่ในทะเลจีนใต้

นาจิบบอกว่า วิธีการแก้ไขแบบไม่เผชิญหน้าของ 10 รัฐสมาชิกสมาคมอาเซียนนี้ ใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพเรื่อยมา ในการลดทอนความตึงเครียดที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอยู่กับจีนไม่ให้บานปลายออกไป

“เราจะยังคงใช้วิธีมีปฏิสัมพันธ์กับจีนด้วยหนทางที่สร้างสรรค์” นาจิบ กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังที่เขานั่งเป็นประธานของการประชุมอาเซียนช่วงเช้าวันจันทร์ ซึ่งเป็นการหารือเฉพาะในหมู่ผู้นำชาติสมาชิกทั้ง 10 ชาติ “เราหวังว่าเราจะสามารถส่งอิทธิพลต่อจีนได้ เพราะมันก็จะเป็นผลประโยชน์ของพวกเขาเช่นกันที่จะไม่ถูกมองว่ากำลังเผชิญหน้ากับอาเซียน รวมทั้งความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์แก่จีนเช่นเดียวกัน”

อาเซียนจะหาทางเพื่อให้ได้ “ทางออกที่รวดเร็วฉับไว” ในการจัดทำแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ร่วมกันกับจีน นาจิบแถลง

ถึงแม้ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ท่าทีของนาจิบก็คือการปฏิเสธอย่างอ้อมๆ ต่อเสียงเรียกร้องของฟิลิปปินส์ที่ขอให้อาเซียนลุกขึ้นมาประจันหน้ากับจีน โดยที่ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ ซึ่งกล่าวในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนเมื่อวันอาทิตย์ (26) และทั้งประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน จูเนียร์ ซึ่งปราศรัยในการประชุมระดับผู้นำในวันจันทร์ (27) ต่างก็ส่งเสียงว่า ปักกิ่งกำลังตั้งท่าที่จะเข้า “ควบคุม (ทะเลจีนใต้) โดยพฤตินัย” อยู่แล้ว จากการดำเนินการก่อสร้างเกาะจำลองขึ้นมา ตามแนวปะการังหลายๆ แห่ง ซึ่งถูกอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนโดยประเทศอื่นๆ ในบริเวณนี้เช่นกัน

“กิจกรรมการถมที่ถมทะเลอย่างใหญ่โตกว้างขวางที่ดำเนินการโดยจีน ต้องถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้ อีกทั้งเป็นเหตุสร้างความเสียหายอย่างไม่อาจแก้ไขซ่อมแซมได้ให้แก่สิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของพวกเราเป็นจำนวนมาก” อากีโน ระบุในการกล่าวต่อที่ประชุมตอนเช้าวันจันทร์

อากีโนบอกว่า อาเซียนจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีเจตนารมณ์ทางการเมืองอันหนักแน่นมั่นคง และสามัคคีกันต่อต้าน “กิจกรรมต่างๆ ซึ่งทำให้ความตึงเครียด (ในภูมิภาคนี้) ยิ่งบานปลาย” ทั้งนี้มะนิลายังเตือนด้วยว่าจีนน่าที่จะรอคอยให้งานถมที่ถมทะเลของตนเสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะยอมตกลงเรื่องแนวทางปฏิบัติกับอาเซียน และหากเป็นดังนั้น แนวทางปฏิบัติที่มีผลผูกพันทางกฎหมายดังกล่าว ก็กลับจะกลายเป็นการรับรองสร้างความชอบธรรมให้แก่การอ้างสิทธิ์ของแดนมังกร

ทั้งจีน, ไต้หวัน, และหลายชาติสมาชิกอาเซียนอย่าง มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, และบรูไน ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหลายส่วนในทะเลจีนใต้ซึ่งทับซ้อนกันอยู่ โดยที่ผ่านมา อาเซียนโดยองค์รวมพยายามที่จะใช้จุดยืนที่ระมัดระวังในกรณีพิพาทเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความไม่พอใจให้แก่ปักกิ่ง ซึ่งกำลังกลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนรายสำคัญมากของชาติต่างๆ ในสมาคม

มาเลเซียในฐานะที่เป็นประธานอาเซียน มีกำหนดที่จะออกคำแถลงฉบับหนึ่งในคืนวันจันทร์ โดยที่พวกสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งได้เห็นร่างคำแถลงนี้แล้ว ต่างรายงานตรงกันว่า คำแถลงตอนปิดการประชุมผู้นำอาเซียนนี้ จะมีเนื้อหาระบุว่า ประธานอาเซียนมีความกังวลอย่างล้ำลึกเฉกเช่นเดียวกับที่มีผู้นำของชาติสมาชิกสมาคมบางรายหยิบยกขึ้นมากล่าว “ในเรื่องเกี่ยวกับการถมที่ถมทะเลที่กำลังดำเนินอยู่ในทะเลจีนใต้” ทั้งนี้ ร่างคำแถลงไม่ได้มีการระบุชื่อประเทศจีนตรงๆ

กิจกรรมเหล่านี้ “กำลังบั่นทอนความไว้วางใจกันและความเชื่อมั่นที่มีต่อกัน และอาจจะบ่อนทำลายสันติภาพ, ความมั่นคง, และเสถียรภาพในทะเลจีนใต้” ร่างคำแถลงนี้ระบุ

มาเลเซียในฐานะเป็นประธานอาเซียน จึงขอเรียกร้องให้ “ยับยั้งชั่งใจตนเองในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ” ร่างคำแถลงกล่าว รวมทั้งบอกด้วยว่า ฝ่ายไหนก็ไม่ควรหันไปใช้วิธีการข่มขู่คุกคามหรือวิธีใช้กำลัง

สำหรับปฏิกิริยาของทางปักกิ่ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกคำแถลงในวันจันทร์ (27) กล่าวว่า แดนมังกรมีความปรารถนาที่จะทำงานกับอาเซียน แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงกล่าวปกป้องการสร้างเกาะจำลองของแดนมังกรว่าเป็นกิจกรรมที่อยู่ภายในดินแดนซึ่งเป็นอธิปไตยของจีน

“การกล่าวหาของบางประเทศต่อจีนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล” โฆษกผู้นี้บอก

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น