รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมออกคำสั่งเรียกเอกอัครราชทูตประจำอินโดนีเซียกลับประเทศ ภายหลังทราบข่าวว่า แอนดรูว์ ชาน และ มยูรัน สุกุมารัน สองพลเมืองนักค้ายาเสพติดข้ามชาติสัญชาติออสเตรเลีย ถูกยิงเป้าพร้อมผู้ต้องหาคดียาเสพติดอีก 6 คนเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา (29 เม.ย.)
กลุ่มนักโทษซึ่งประกอบด้วยชาวต่างชาติ 7 รายและชาวอินโดนีเซียอีก 1 รายถูกประหารชีวิตเมื่อหลังเที่ยงคืน ภายในเรือนจำความมั่นคงสูงบนเกาะนูซากัมบังงัน ยกเว้นนักโทษหญิงชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับการละเว้นชีวิตในนาทีสุดท้ายหลังทางการฟิลิปปินส์ขอกันตัวเป็นพยายนเมื่อนักค้ายารายใหญ่มอบตัวในฟิลิปปินส์
“เราเคารพในอธิปไตยของอินโดนีเซีย แต่ก็ต้องขอประณามสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ซึ่งไม่อาจถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาได้… ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่เราได้มอบความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ตายคือคุณสุกุมารัน และคุณชาน อย่างเต็มที่แล้ว ก็จะมีการเรียกทูตกลับเพื่อปรึกษาหารือ” นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย แถลง
รัฐมนตรีต่างประเทศ จูลี บิชอป แห่งออสเตรเลีย อ้างว่า ชาน และ สุกุมารัน ซึ่งเป็นหัวหน้าแก๊งขนเฮโรอีน “บาหลีไนน์” ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วโดยสิ้นเชิง หลังถูกตัดสินโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2006 และต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำบาหลีนับตั้งแต่นั้นมา
ออสเตรเลียใช้ทุกวิถีทางที่จะบีบบังคับให้อินโดนีเซียให้ละเว้นโทษตายแก่พลเมืองทั้งสองของตน รวมถึงการทวงบุญคุณที่เคยบริจาคช่วยเมื่อครั้งอินโดนีเซียต้องเผชิญกับสึนามิ แต่ยังไม่กล้าใช้วิธีเรียกทูตกลับจากประเทศใดเพื่อประท้วงการประหารนักโทษคดียาเสพติดมาก่อน แต่คราวนี้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียระบุว่า จำเป็นต้องนำตัวทูต พอล กริกสัน กลับมา เพราะบทลงโทษที่ ชาน และ สุกุมารัน ได้รับนั้น “โหดร้าย และไม่จำเป็น”
ด้านรัฐบาลฟิลิปปินส์แสดงความยินดีที่ทางการอิเหนายอมละเว้นชีวิต แมรี เจน เวโลโซ นักค้ายาเสพติดหญิงซึ่งอยู่ในกลุ่มนักโทษประหารด้วย แต่ได้รับการละเว้นโทษตาย หลังจากบุคคลคนหนึ่งที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้หลอกให้เธอนำยาเสพติดเข้าอินโดนีเซีย ได้เข้ามอบตัวต่อทางการฟิลิปปินส์
สำหรับนักโทษต่างชาติคนอื่นๆ ที่ถูกประหารชีวิตประกอบด้วยชาวบราซิล 1 คน ชาวไนจีเรีย 3 คน และอีก 1 คนซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าถือสัญชาติไนจีเรีย หรือกานา
ครอบครัวของนักค้ายาเสพติดชาวบราซิลที่มีชื่อว่า โรดริโก กูลาร์เต โอดครวญว่าเขาไม่สมควรถูกยิงเป้า เพราะแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) ขณะที่รัฐบาลบราซิลก็แสดงความผิดหวังต่อการประหารที่เกิดขึ้น โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์กีโอ ฟรังกา ดาเนเซ ชี้ว่า กรุงบราซิเลียจะต้อง “ประเมิน” ความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียเสียใหม่
ด้านฝรั่งเศสก็ออกมาย้ำจุดยืน “ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษประหารทุกกรณี” ซึ่งอันที่จริงแล้วมีนักโทษชาวฝรั่งเศสอยู่ในกลุ่มที่จะต้องถูกประหารชีวิตด้วย แต่ได้รับการละเว้นชั่วคราวจนกว่ากระบวนการอุทธรณ์จะเสร็จสิ้น