บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าจัดการต่อปัญหาสถานะพลเมืองของชาวมุสลิมโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้
ชาวโรฮิงญาเกือบ 140,000 คน จากทั้งหมด 1.1 ล้านคนในพม่า ที่ส่วนใหญ่เป็นคนไร้รัฐ ยังคงไร้ที่อยู่อาศัยหลังถูกโจมตีอย่างรุนแรงโดยกลุ่มชาวพุทธในรัฐยะไข่เมื่อปี 2555
“ประชาคมโลกยังคงวิตกต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ความมั่นคงระยะยาวในยะไข่ยังคงไม่สามารถบรรลุได้หากไม่แก้ไขปัญหาสถานะ และความเป็นพลเมืองของประชากรชาวมุสลิม” บัน คี มูน กล่าวต่อคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ
ชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่ามักเผชิญต่อการถูกล่วงละเมิด และตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เช่น การแต่งงาน การลงทะเบียนเกิด และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อีกมากมาย ตามการระบุของกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชน
“สถานการณ์ของชุมชนในรัฐยะไข่ และที่อื่นๆ ยังคงเปราะบาง ยังคงมีสัญญาณของปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติ และศาสนา กระบวนการปฏิรูปอาจเป็นอันตรายหากต้นตอของความตึงเครียดเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข” บัน กล่าว
เลขาธิการสหประชาชาติ ยังได้แสดงความวิตกต่อปัญหาความขัดแย้งที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเกี่ยวกับกฎหมายศาสนา และเชื้อชาติ รวมทั้งการดำเนินการยกเลิกสถานะของผู้ถือบัตรขาว
“การเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะเกิดขึ้น และรัฐบาลควรดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนในการจัดการต่อปัญหาเหล่านี้” บัน คี มูน กล่าว
รัฐสภาพม่า มีมติเมื่อเดือน ก.พ. ที่จะมอบบัตรประชาชนชั่วคราวหรือที่เรียกว่า “บัตรขาว” ให้แก่ประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถลงคะแนนในการลงประชามติรัฐธรรมนูญที่เป็นการปูทางไปสู่การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปีนี้ แต่ชาวพุทธประท้วงต่อต้านแผนดังกล่าว โดยระบุว่า ผู้ถือบัตรขาวนั้นส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย และหลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลได้ตัดสินใจยกเลิกบัตรดังกล่าว
บัน คี มูน ยกประเด็นการจัดการต่อผู้ถือบัตรขาวของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ว่า ความล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาอย่างถาวรต่อสถานะความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา จะทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป และยังแสดงความวิตกเกี่ยวกับเหตุรุนแรงในรัฐกะฉิ่น และรัฐชานอีกด้วย
“การปะทะในโกกัง (รัฐชาน) ยังคงเป็นปัญหาในแง่ของยอดผู้เสียชีวิต และความเสียหาย ผู้ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงพื้นที่โดยไม่มีข้อจำกัดเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากการปะทะเหล่านี้ต้องไม่กระทบต่อกระบวนการสันติภาพโดยรวม” บัน คี มูน กล่าว