“หมอนิรันดร์” ลั่นไม่มีหน่วยงานไหนกล้าปฏิเสธไทยไม่มีค้ามนุษย์ กรณีหลุมศพโรฮิงญา ชี้ รัฐละเมิดสิทธิตลอดแม้ไม่ได้ตั้งใจ ยินดี “ประยุทธ์” เร่งแก้ แนะ ริเริ่มคุยเรื่องนี้ในเวทีนานาชาติ ให้เลิกคิดว่าแทรกแซงพม่า จี้ใช้ ม.44 จัดการผู้เกี่ยวข้องกำจัดรางเหง้าปัญหา 13 พ.ค.ลงพื้นที่สอบ 20 พ.ค.เชิญฝ่ายเกี่ยวข้องแจง ปัดจับผิดรัฐ
ASTV รายงานว่าวันนี้ (6 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธานได้มีการประชุมหารือติดตามการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญากรณีมีการพบหลุมศพชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ปาดังเปซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา โดย นพ.นิรันดร์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทำให้ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าปฏิเสธอีกว่าไม่มีขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาอนุกรรมการฯ ได้ติดตามปัญหาต่างด้าวหลบหนีเข้ามาเมืองมาตลอด โดยในกรณีของชาวโรฮิงญาติดตามมาตั้งแต่ปลายปี 2552 และพบว่าการดูแลของภาครัฐมีปัญหาการละเมิดสิทธิของชาวโรฮิงญาตลอดแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่การที่ พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมืองไม่ได้ระบุถึงสถานะของผู้อพยพทำให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกันประเทศต้นทางคือ พม่าไม่ยอมรับว่าชาวโรงฮิงญาเป็นพลเมือง ปัญหาโรงฮิงญาจึงยังดำเนินอยู่เหมือนภูเขาน้ำแข็ง กรณีพบศพที่ปาดังเปชาร์จึงเหมือนฝีที่กลัดหนองมานานแล้วแตกออกที่ประเทศไทย และน่ายินดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศนโบบายหลักในการที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เร่งแก้ปัญหานี้ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ต่อไป
“หลุมศพที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ชัดเจนของการค้ามนุษย์ว่ามีการทำกันเป็นขบวนการมีการไปขนชาวโรฮิงญาเข้ามาแลกกับเงินเพื่อช่วยให้เดินทางไปประเทศที่ 3 โดยมีข้าราชการหรือผู้นำท้องถิ่นของไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น รัฐบาลต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนเรื่องการเสียชีวิต และเอาคนผิดมาลงโทษ เพื่อตัดกระบวนการการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และใช้เรื่องนี้เป็นโอกาสเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในระดับภูมิภาค ระดับโลกให้ได้ โดยไทยควรเป็นผู้เริ่มต้นในการหยิบยกเรื่องนี้ไปพูดคุยในเวทีระดับระดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะปัญหาไม่ได้เกิดที่ประเทศไทยประเทศเดียว ซึ่งต้องให้ประเทศในภูมิภาคนี้เลิกคิดว่าการพูดถึงปัญหานี้เป็นการแทรกแซงการเมืองในพม่า แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ทุกข์ยาก ถูกบังคับเอาเปรียบและถูกทำให้ตาย จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งระบบ”
นพ.นิรันดร์ยังมองว่า หากรัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะอำนาจในทางบริหาร เพื่อจัดการข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อกำจัดรากเหง้าของปัญหาได้ก็น่าจะถือเป็นเรื่องที่ดีและแก้ไขปัญหาได้ เพราะในระบบราชการเดิม เป็นที่รู้กันว่าเวลาเกิดปัญหาขึ้น การแก้ไข หรือเอาผิดพวกเดียวกันเองก็จะเป็นลักษณะลูบหน้าปะจมูก หรือหลับหูหลับตาตลอดเมื่อข้าราชการด้วยกันทำผิด แต่ไม่ควรให้อำนาจดังกล่าวในทางตุลาการ เพราะขณะนี้สังคมต้องการเห็นการดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การจับกุมดำเนินคดี การตรวจพิสูจน์ศพ หรือการตัดสินลงโทษ เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ถ้ารัฐบาลยึดมั่นในแนวทางนี้ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งกับคนในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งก็จะมีผลต่อภาพลักษณ์ของไทย
อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวทางอนุกรรมการมี คณะทำงานเกี่ยวกับที่ติดตามเรื่องโรฮิงยาอยู่แล้ว และตนได้สั่งการให้คณะทำงานลงหาข้อมูลในพื้นที่ ดังนั้นเบื้องต้นอนุกรรมการส่วนหนึ่งจะมีการลงพื้นที่วันที่ 13 พ.ค.นี้ แต่ยังไม่กำหนดว่าจะลงในพื้นที่ใดบ้าง เพราะต้องประสานกับคนในพื้นที่ก่อน รวมทั้งในวันที่ 20 พ.ค.จะมีการเชิญหน่วยงานของรัฐมาชี้แจง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แพทย์นิติเวช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาชี้แจงว่ามีการดำเนินการอะไรไปบ้าง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการติดตามเรื่องนี้ของกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ทำเพื่อจับผิดตำรวจหรือรัฐบาล แต่เพราะได้ติดตามเรื่องค้ามนุษย์และเป็นหน้าที่ ที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องไปยังรัฐบาล