จ่อเซ็นเด้ง 10 ตร.เอี่ยวค้ามนุษย์โรฮิงญาเพิ่ม ย้ำผิดเจออาญา

ผบ.ตร.จ่อเซ็นเด้งเพิ่ม 10 ตำรวจเอี่ยวค้ามนุษย์โรฮิงญา ยันย้ายออกนอกพื้นที่เพื่อให้สืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างราบรื่น หากพบเกี่ยวข้องต้องดำเนินคดีอาญา ยืนยันไทยไม่ใช่พื้นที่หมายปลายทาง เป็นเพียงแค่ทางผ่าน

วันนี้ (11 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาว่า ตอนนี้ได้รับรายงานจาก พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนคลี่คลายคดีว่าจะมีการเสนอรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 10 นายที่อาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ให้มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ทั้งนี้ เพื่อให้มีความเรียบร้อย และสามารถสืบสวนสอบสวนคดีนี้ได้อย่างไม่มีข้อขัดข้อง ส่วนความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะมีคำสั่งให้ย้ายมาช่วยราชการทั้ง 10 นายนี้ ต้องสอบถามไปยัง พล.ต.อ.เอก เพราะตนได้ให้ พล.ต.อ.เอกประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่างคำสั่งโดยตรง แต่เชื่อว่ารายชื่อบุคคลทั้งหมดที่ได้นำเสนอมามีการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้วว่า มีผลกระทบต่อการทำงานของชุดสืบสวนคลี่คลายคดี

ทั้งนี้ สำหรับปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางข้อมูลไม่สามารถพูดได้เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่าประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่หมายปลายทางของชาวโรฮิงญา เป็นเพียงแค่ทางผ่าน เพียงแต่ต้นทางและปลายทางมีวิธีจะรับชาวโรฮิงญาไปอย่างไรซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะชี้ชัดได้

พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ปัญหาการค้าแรงงานโรฮิงญาไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาของประเทศไทยเพียงประเทศเดีย แต่เกี่ยวเนื่องกับต้นทาง กลางทางและปลายทางด้วย คือ ประเทศมาเลเซีย และวันที่ 11-14 พ.ค.นี้ตนจะเดินทางไปพบกับอธิบดีกรมตำรวจแห่งมาเลเซีย เพื่อจะหารือเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวที่ จ.ภูเก็ต ว่าจะช่วยเหลือกันได้อย่างไรบ้างเพื่อให้ขบวนการค้าโรฮิงญาหมดไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากตำรวจ 14 นายที่มีการย้ายออกนอกพื้นที่ล่าสุดและอีก 10 นายที่เตรียมจะย้าย จะมีเพิ่มอีกหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบ แต่หาก พล.ต.อ.เอกเสนอมาตนก็พร้อมที่จะตอบสนอง เพราะถือว่าเชื่อใจและให้เกียรติในการทำงานซึ่งไม่มีอคติ ทำทุกอย่างไปตามพยานหลักฐาน หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าแรงงานโรฮิงญาหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานก็เสนอรายชื่อเข้ามา แต่ถ้าสุดท้ายแล้วมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะจเรตำรวจซึ่งได้มีการแต่งตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ หากพบว่าไม่มีความผิดก็จะคืนความชอบธรรมให้

เมื่อถามถึงกรณีมีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องพัวพันออกจากพื้นที่จำนวนมากจะมีการเสนอให้มีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจนอกวาระแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกฯ หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ต้องมีแน่นอนซึ่งได้มีการพุดคุยนอกรอบกับรองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยท่านนายกฯ ได้มีคำแนะนำว่าข้าราชการตำรวจคนใดเกี่ยวข้องก็ให้ย้ายออกนอกพื้นที่ นอกจังหวัด แต่หากข้าราชการตำรวจคนใดไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ แต่มีการปล่อยปละละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องมีการย้ายออกนอกพื้นที่ แต่ไม่ถึงขั้นให้ออกนอกเมือง ส่วนผู้ที่มีหลักฐานชัดเจนก็จำเป็นต้องดำเนินคดีอาญาร่วมด้วย เช่น ร.ต.ท.มงคล สุโร รอง สวป.ตชด.43 และด.ต.อัศณีย์รัญ นวลรอด ผบ.หมู่ (ป.) สภ.ปาดังเบซาร์ ซึ่งส่วนนี้ตนได้มีคำสั่งให้ ภ.8 และ ภ.9 ให้มีคำสั่งออกจากราชการไปก่อนแล้ว

เมื่อถามว่านอกเหนือที่มีข้าราชการตำรวจมาเกี่ยวข้องกับคดีนี้แล้ว ขณะนี้พบว่าที่ จ.สตูล เป็นแหล่งที่มีเครือข่ายสำคัญ บุคคลที่มีรายชื่อหรือมีกระแสข่าว อาทิ เสี่ย ต.มีความเชื่อมโยงอย่างไรจึงเดินทางออกนอกพื้นที่ไป พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ถ้ามีพยานหลักฐานเชื่อมโยงและสามารถเอาผิดเขาได้ เราก็จะทำ เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีข่าวในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ไม่สามารถตอบได้ว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร ยังอยู่ในประเทศหรือไม่ ถ้ามีความผิดจริงก็ต้องจับ หากมีการไหวตัวทันแล้วหลบหนีไปแสดงว่ามีความผิดจริง แต่ถ้าไม่มีความผิดแต่มีหมายจับก็สู้คดีกันไป บางครั้งหากพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ เมื่อขึ้นศาลสู้คดีอาจจะไม่มีความผิดก็ได้ ส่วนความเกี่ยวข้องในด้านไหนนั้นคงไม่สามารถบอกรายละเอียดได้

สำหรับรายชื่อผู้ต้องหาที่ออกหมายจับแล้วแต่ไม่มีการเปิดเผย เพราะว่าหากเปิดเผยออกไปแล้วผู้ต้องหาเหล่านั้นอาจจะหลบหนี อีกทั้งพื้นที่ภาคใต้อยู่ติดชายแดน หากข้ามไปก็ไม่สามารถทำอะไรคนเหล่านั้นได้อีก แต่หากปิดรายชื่อไว้เป็นความลับเมื่อทำการจับกุมได้แล้วจึงค่อยเปิดเผยจะเป็นผลดีมากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้จะทำอย่างไรกับชาวโรฮิงญาในประเทศไทย พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ส่วนนี้คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ได้พูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการสูงสุด รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องนี้ ปัญหาคือประเทศหรือถิ่นที่มาของชาวโรฮิงญา กลางทางและปลายทาง ประเทศพม่าไม่รับว่าเป็นประชากรของเขา ถ้าเราจะผลักดันกลับไปถิ่นกำเนิดก็เป็นเรื่องยาก ผลักดันต่อไปประเทศปลายทางที่ชาวโรฮิงญาอยากจะไป ถ้าเปิดเผยเขาก็ไม่รับ ปัญหาของประเทศไทยคือเราอยู่ตรงกลางเราจะทำอย่างไรกับพวกเขา ต้องดูแลเขาหรือไม่ เมื่อไม่ดูแลแล้วเขาจะไปไหน

โดยเบื้องต้นพูดคุยกันว่าจะเปิดหรือจัดให้มีค่าย หรือสถานที่พักเพื่อมนุษยธรรม แต่อีกด้านหากเราจัดให้มีสถานที่แบบนี้ชาวโรฮิงญาก็จะหลั่งไหลกันเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ปัญหาก็จะตกอยู่ที่ประเทศไทย โดยต้องจัดสรรงบประมาณมาดูแลทั้งเรื่องอาหาร ที่พัก รวมไปถึงโรคภัยต่างๆ ที่จะติดมากับชาวโรฮิงญาด้วย

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น