นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ในการพัฒนาระบบรถไฟของไทย ว่า หลังจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามความร่วมมือ หรือ MOU ใน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1 เส้นทางกรุงเทพ – เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กิโลเมตร 2 เส้นทางกาญจนบุรี – กรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา – แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา – อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กิโลเมตร และเส้นที่ 3 จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก – มุกดาหาร ระยะทาง 718 กิโลเมตร ล่าสุดทางญี่ปุ่นยืนยันว่า เส้นทางที่มีความสำคัญอันดับหนึ่ง คือ เส้นทางกรุงเทพ – เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการศึกษาไว้แล้ว โดยช่วงครึ่งหลังปี 2558 ญี่ปุ่นจะเข้ามาทบทวนผลการศึกษาและเริ่มสำรวจออกแบบในรูปแบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเน้นมาตรฐานความปลอดภัย และก่อสร้างในปี 2559 ขณะเดียวกันญี่ปุ่นให้ความสนใจเส้นทางกาญจนบุรี – กรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา – แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา – อรัญประเทศ ซึ่งเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ไปถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย ของเมียนมา ส่วนเส้นทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก – มุกดาหาร หรือ East-West Corridor ขณะนี้ไทยยังไม่มีการศึกษา ทางญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการลงนาม บันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น โดยในสัปดาห์นี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยศึกษาเส้นทางรถไฟในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด พร้อมกันนี้ บริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า สายสีม่วง ของญี่ปุ่นรายงานว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้จะส่งมอบรถไฟฟ้า 3 ขบวนแรก จำนวน 9 ตู้ เพื่อนำมาทดลองวิ่งในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนที่จะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2559