สำนักวาติกันจัดทำร่างข้อตกลงฉบับแรกซึ่งเป็นการประกาศยอมรับสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์ และเปิดทางให้คริสตจักรคาทอลิกสามารถจัดกิจกรรมทางศาสนาในดินแดนที่อยู่ในความควบคุมของปาเลสไตน์ได้ แต่ก็เรียกเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงจากฝ่ายชาวคริสต์ที่สนับสนุนอิสราเอล
ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่โป๊บฟรานซิสจะทรงพบปะกับประธานาธิบดีมะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ คาดว่าจะช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองรัฐ
มอนซิเนอร์ อันตัวเน คามิลเลรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสำนักวาติกัน ซึ่งเป็นผู้แทนเจรจาข้อตกลงฉบับนี้ ระบุว่า “มันจะช่วยส่งเสริมชีวิตและกิจกรรมของคริสตจักรคาทอลิก และการยอมรับในระดับตุลาการ”
เจ้าหน้าที่วาติกันย้ำว่า แม้ข้อตกลงฉบับนี้จะมีนัยยะสำคัญ แต่ก็มิใช่ครั้งแรกที่สำนักวาติกันแสดงออกถึงการยอมรับรัฐปาเลสไตน์
“เรายอมรับสถานะรัฐปาเลสไตน์ตั้งแต่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การรับรองในปี 2012 และในหนังสือประจำปีที่เราออกอย่างเป็นทางการก็ระบุชื่อรัฐปาเลสไตน์ไว้อย่างชัดเจน” บาทหลวงเฟเดริโก ลอมบาร์ดี โฆษกวาติกัน ให้สัมภาษณ์
ข้อตกลงฉบับนี้ถูกร่างเสร็จสมบูรณ์ และจะมีพิธีลงนามรับรองโดยฝ่ายบริหารของทั้ง 2 รัฐ “ในอนาคตอันใกล้” ถ้อยแถลงร่วมจากสำนักวาติกันระบุ
ประธานาธิบดี อับบาส จะเดินทางไปร่วมพิธีสวดมิสซาที่วาติกันในวันอาทิตย์นี้ (17) โดยวาติกันจะประกาศยกสถานะ “นักบุญ” ให้แก่แม่ชีชาวปาเลสไตน์ 2 ท่านซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20
คามิลลารี ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ L’Osservatore Romano ของวาติกันว่า ข้อตกลงฉบับนี้อาจช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล
“คงจะเป็นเรื่องดี หากข้อตกลงฉบับนี้จะมีส่วนช่วยให้ปาเลสไตน์ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐที่มีเอกราชและประชาธิปไตย ซึ่งสามารถจะอยู่ร่วมกับอิสราเอลและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้อย่างสันติและมั่นคง”
โมเช คันตอร์ ประธานสภาชาวยิวแห่งยุโรป ได้กล่าวตำหนิท่าทีของวาติกันว่า “น่าผิดหวัง” และเตือนว่าข้อตกลงเช่นนี้ “จะบั่นทอนโอกาสในการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ และทำให้พวกหัวรุนแรงได้ใจ”
อับราฮัม ฟอกซ์แมน จากสันนิบาตต่อต้านการหมิ่นประมาท (Anti-Defamation League) ชี้ว่า วาติกันด่วนทำข้อตกลง “เร็วเกินไป” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวทาง “2 รัฐควบคู่” ที่กำลังเจรจากันอยู่
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรองปาเลสไตน์เป็น “รัฐสังเกตการณ์ที่มิใช่สมาชิก” ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2012 ซึ่งจัดว่ามีสถานะเทียบเท่ารัฐวาติกัน