พม่าส่งสัญญาณปฏิเสธการประชุมภูมิภาคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพมุ่งเป้าจะคลายวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศในอ่าวเบงกอล อ้างเป็นปัญหาของไทยอย่าเบี่ยงประเด็นปัญหา
มนุษย์เรือหลายร้อยคนเดินทางมาถึงแผ่นดินไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เมื่อการค้นพบหลุมศพหมู่ในภาคใต้ของไทยซึ่งเชื่อว่าเป็นของชาวบังกลาเทศ และผู้อพยพชาวโรฮิงญาจากพม่า ทำให้ทางการไทยเข้าปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ และทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ทิ้งผู้อพยพเหล่านี้ไว้กลางทะเล และกลางป่า
ทางการไทยที่ถูกมหาอำนาจกล่าวหาว่าปิดหูปิดตาและสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ได้เรียกประชุมระดับภูมิภาคในวันที่ 29 พ.ค. ที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดการกับต้นตอของการอพยพย้ายถิ่นเป็นจำนวนมากนี้ ซึ่งผู้อพยพหลายคนที่พบบนเรือเป็นชาวโรฮิงญาจากภาคตะวันตกของพม่า ซึ่งถูกทางการพม่ากดขี่จนไม่สามารถอาศัยอยู่ในแผ่นดินเกิดของตนเองได้
ฝ่ายพม่ากล่าวหาในวันศุกร์ (15) ว่าไทยใช้การประชุมภูมิภาคเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาของตัวเองเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์
“เราอาจจะไม่เข้าร่วม…เราไม่ยอมรับหากไทยเชิญเราเพียงเพื่อคลายความกดดันที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่” ซอ เต ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีพม่า กล่าว
“ต้นเหตุรากเหง้าของวิกฤตคือการค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ปัญหาหลุมศพหมู่ผู้อพยพไม่ใช่ปัญหาของพม่า เป็นเพราะความอ่อนแอในการป้องกันการค้ามนุษย์และหลักนิติธรรมของไทย” ซอ เต กล่าว
การประชุมหนึ่งวันในกรุงเทพฯ จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก 15 ประเทศทั้งอินโดนีเซีย บังกลาเทศ พม่า รวมทั้งออสเตรเลีย และสหประชาชาติ
สหประชาชาติระบุว่ามีผู้อพยพมากกว่า 25,000 คน ที่ประกอบด้วยชาวโรฮิงญาและผู้อพยพทางเศรษฐกิจ หรือแรงงานต่างด้าวจากบังกลาเทศ ได้เดินทางมุ่งลงใต้จากอ่าวเบงกอลในช่วงระหว่างเดือนม.ค. ถึงมี.ค. ในปีนี้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงทางศาสนาจากการคุกคามของกลุ่มชาวพุทธ และการใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาของทางการพม่าได้ก่อให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดของบรรดามนุษย์เรือนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม
ในพม่ามีชาวโรฮิงญามากกว่า 1.3 ล้านคน อาศัยอยู่ในรัฐอารกัน หรือยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ แต่พม่าปฏิเสธการให้สิทธิพลเมืองกับคนกลุ่มนี้ และยังปฏิเสธที่จะระบุว่าชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งของประเทศ และกล่าวหาว่าคนกลุ่มนี้คือ เบงกาลี หรือชาวบังกลาเทศ
ซอ เต กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่า หัวใจของวิกฤตผู้อพยพอยู่ในบังกลาเทศ
ความรุนแรงทางศาสนาที่กลุ่มชาวพุทธใช้ความรุนแรงบุกโจมตีชาวมุสลิมโรฮิงญาล่าสุดเกิดขึ้นในรัฐอารกัน หรือรัฐยะไข่ในปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน และอีกนับแสนคนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยต้องไปอยู่ตามค่ายอพยพ เนื่องจากมัสยิด โรงเรียน ชุมชน ถูกกลุ่มชาวพุทธบุกเผาทำลาย โดยการอำนวยความสะดวกของกองกำลังติดอาวุธทั้งทหาร และตำรวจพม่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ทางทะเลอย่างต่อเนื่อง