คนไทยป่วย “ความดัน” เพิ่ม 9 หมื่นคน ตาย 5 พัน กว่าครึ่งป่วยไม่รู้ตัว

ทั่วโลกป่วยความดันโลหิตสูงแล้วถึง 1 พันล้านคน โซนอาเซียนป่วยถึง 1 ใน 3 แต่รู้ตัวว่าป่วยจริงแค่ 50% เผยไทยมีผู้ป่วยความดันรายใหม่ถึง 9 หมื่นคน และตายมากขึ้นกว่า 1.4 พันคน แนะตรวจคัดกรองปีละครั้ง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดอาหารเค็ม เน้นผักผลไม้

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก มีการรณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนตื่นตัวต่อโรคนี้ เพราะปัจจุบันพบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกในปี 2554 ทั่วโลกมีผู้มีความดันโลหิตสูงเกือบ 1,000 ล้านคน ซึ่ง 2 ใน 3 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยพบว่า คนในวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย 1 ใน 3 คนมีภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ปัญหาคือส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย โดยทั่วโลกมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่รู้ตัวว่าป่วย ในปีนี้จึงได้รณรงค์ในประเด็น “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” สำหรับประเทศไทยในปี 2556 พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 90,564 คน แบ่งเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคนี้ 64,115 คน และกลุ่มคนปกติป่วยเป็นโรคนี้ 26,449 คน นอกจากนี้ ยังพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้น จากปี 2555 จำนวน 3,684 คน เพิ่มเป็น 5,165 คน ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,481 คน

“โรคความดันโลหิตสูง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพมีผลต่อหลอดเลือดและการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ อาจเป็นสาเหตุให้หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ และเร่งให้เกิดการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายได้ ดังนั้น จึงให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เผยแพร่ข้อมูลเพื่อเพิ่มความตระหนักให้ประชาชนมาตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้รู้ค่าความดันโลหิตของตนเอง และ เข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป” รมว.สธ. กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง มาจากการกินอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน ทั้งหวาน มัน โดยเฉพาะอาหารเค็ม กินผักและผลไม้ ไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงขอแนะนำให้ 1.ลดการกินอาหารรสเค็ม หมักดอง อาหารกระป๋อง และอาหารขยะ 2.เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น 3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ 4.งดและลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น