นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าววานนี้ (16) ว่า เขาจะขอความช่วยเหลือจากพม่าในการจัดการต่อปัญหาภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับคลื่นมนุษย์ที่หลบหนีทางเรือมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายพันคนเป็นชาวโรฮิงญาที่หลบหนีการกดขี่ในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ตกอยู่ภายใต้ความกดดันที่เพิ่มขึ้นในการช่วยเหลือผู้อพยพชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศที่หิวโหย และหมดหนทางหลังถูกผลักดันกลับออกไปในทะเลทั้งที่ขาดแคลนอาหาร และไม่มีที่ไป
สำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซีย รายงานอ้างคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ว่า มาเลเซียกำลังประสานงานกับรัฐบาลพม่าเพื่อให้พม่าตอบสนอง และหวังว่าพม่าจะตอบสนองในทางบวก แต่ผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาภายในที่เราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ แต่เราต้องทำบางอย่างก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลง
ความร่วมมือของพม่าถือว่ามีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการหลั่งไหลของผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนาม
แต่รัฐบาลพม่า ที่ปฏิเสธการเป็นพลเมืองของชาวมุสลิมโรฮิงญา ได้ปฏิเสธการเรียกประชุมภูมิภาคของไทยเกี่ยวกับปัญหานี้ในวันที่ 29 พ.ค. โดยระบุว่า ไม่ใช่ปัญหาของพม่า
นักเคลื่อนไหวระบุว่า อาจมีผู้อพยพ 8,000 คน อยู่บนเรือที่แน่นขนัดด้วยความอดอยาก และโรคภัยที่คร่าผู้อพยพไปหลายชีวิต หลังการปราบปรามของไทยเข้าขัดขวางเส้นทางการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งทำให้นายหน้าค้ามนุษย์ทิ้งคนเหล่านั้นไว้กลางทะเล.