กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่ารัฐบาลไทยมีกำหนดจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่กรุงเทพฯ การประชุมนี้เป็นความพยายามเร่งด่วนในการเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคร่วมมือกันเพื่อรับมือกับการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเล โดยเฉพาะในอ่าวเบงกอลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ความซับซ้อนของปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันทำให้จำเป็นต้องมีแนวทางรับมือที่ครอบคลุมรอบด้าน โดยประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทาง ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ตลอดจนปัจจัยเอื้ออื่นๆ ตลอดเส้นทาง ทั้งนี้ ประเทศไทยมุ่งมั่นในแนวทางของความร่วมมือและการประสานงาน ซึ่งการให้สัตยาบันอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ACTIP) ซึ่งจะลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ และแผนปฏิบัติการอาเซียน (APA) ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เป็นเครื่องยืนยันอีกทางหนึ่งถึงความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามแนวทางความร่วมมือและการประสานงาน
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะเชิญเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ๑๕ ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และบังกลาเทศ รวมทั้งประเทศผู้สังเกตการณ์ อาทิ สหรัฐฯ ตลอดจนผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) โดยจะใช้ประโยชน์จากพัฒนาการต่างๆ ของกระบวนการบาหลีเกี่ยวกับการลักลอบขนคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งจะเป็นการต่อยอดการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการประชุมระดับรัฐมนตรีสมัยพิเศษว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติเมื่อปี ๒๕๕๖ ที่กรุงจาการ์ตา