ผู้อพยพทางเรือที่รอดชีวิตหลังได้รับความช่วยเหลือจากทางการอินโดนีเซีย เปิดเผยข้อมูลกับสำนักข่าวบีบีซี โดยระบุว่า ระหว่างการเดินทาง มีการต่อสู้กันเพื่อแย่งอาหารที่เหลืออยู่ไม่มากนัก ผลของการต่อสู้ดังกล่าวทำให้มีผู้อพยพเสียชีวิตและถูกโยนลงทะเลนับร้อยคน
สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้อพยพทางเรือที่ได้รับความช่วยเหลือหลังจากเกิดเหตุเรือผู้อพยพอับปางนอกชายฝั่งอินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยผู้อพยพส่วนใหญ่คือชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศ ซึ่งพวกเขาเล่าว่า ระหว่างที่อยู่บนเรือนั้น เกิดการต่อสู้กันเพื่อแย่งอาหารชุดสุดท้ายที่เหลืออยู่ โดยผู้อพยพสามคน ระบุตรงกันว่า มีคนถูกแทง ถูกแขวนคอ และโยนลงจากเรือจากการต่อสู้ดังกล่าวจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย
ที่ผ่านมา ทางการอินโดนีเซียได้ช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือไว้ได้กว่า 700 คน โดยขณะนี้ พวกเขาพักอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวในเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดน้ำและอาหารอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีผู้อพยพอีกกว่า 2,000 คน ที่ยังคงลอยลำอยู่กลางทะเลอย่างไร้จุดหมาย โดยพวกเขาต้องการจะขึ้นฝั่งที่มาเลเซีย แต่ถูกทางการมาเลเซียผลักดันออกมา ทำให้สถานการณ์ของผู้อพยพทางเรือในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่ ทางการเมียนมาร์ก็ออกมายืนยันว่า เมียนมาร์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอพยพทางเรือครั้งใหญ่ในครั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกนานาชาติกดดันอย่างหนัก ให้เร่งแก้ไขปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง โดยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ และทางการเมียนมาร์ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือให้สัญชาติแก่พวกเขา แม้ว่าจะอยู่มาหลายชั่วอายุคนก็ตาม ก่อนจะถูกชาวพุทธขับไล่และมีปัญหากันอย่างรุนแรง จนทำให้พวกเขาตัดสินใจลงเรือเพื่ออพยพหนีปัญหาความขัดแย้งไปที่อื่น ส่วนใหญ่มีปลายทางอยู่ที่มาเลเซีย
ทางด้านของรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ก็เตรียมการที่จะจัดการประชุมหารือปัญหานี้กับทางการเมียนมาร์ แต่ทางการเมียนมาร์ปฏิเสธ
นอกจากนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีรายงานว่า ขบวนการค้ามนุษย์ ได้นำเรือบรรทุกผู้อพยพ 5 ลำ ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเมียนมาร์ แต่หลังจากที่ทางการไทยและมาเลเซียเพิ่มความเข้มงวดและตรวจตราเรือที่เข้าออกชายฝั่งมากขึ้น ก็ทำให้พวกเขาลังเลใจที่จะแล่นเรือต่อไป
แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ยอมปล่อยให้ผู้อพยพเป็นอิสระ โดยผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบีบีซีในนครย่างกุ้งรายงานว่า ผู้ควบคุมเรือเหล่านั้น ได้เรียกร้องค่าไถ่ เพื่อเป็นการตอบแทนก่อนที่จะปล่อยตัวผู้อพยพไป ทำให้ปัญหาผู้อพยพทางเรือจากเมียนมาร์และบังกลาเทศทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมีขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย