‘มาเลย์’สั่งทัพเรือออกช่วย’ผู้อพยพ’-นานาชาติจี้พม่าแก้ปัญหาที่ต้นทาง

มาเลเซียออกคำสั่งในวันพฤหัสบดี (21 พ.ค.) ให้กองทัพเรือดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือ “มนุษย์เรือ” หลายพันคนที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล ขณะที่พม่าเตรียมการเจรจากับรัฐมนตรีของสหรัฐฯและชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ผู้อพยพเหล่านี้พากันตัดสินใจเสี่ยงตายเดินทางออกจากชายฝั่งของแดนหม่อง ส่วนทางด้านรัฐสภายุโรปก็ผ่านญัตติเรียกร้องไทยให้ทำการปราบปรามพวกลักลอบค้ามนุษย์และบรรดาเจ้าหน้าที่ทุจริต ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบก่อให้เกิดวิกฤตนี้ขึ้นมา

คำสั่งให้ค้นหาและช่วยชีวิตของมาเลเซียคราวนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวในเชิงรุกในการช่วยเหลือผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกข่มเหงรังแกจากพม่าและชาวบังกลาเทศซึ่งพยายามหนีความยากจน จนตกอยู่ในมือ “แก๊งค้ามนุษย์” และถูกปล่อยอยู่กลางทะเลในเวลานี้ นอกจากนั้นยังเกิดขึ้น 1 วันหลังจากมาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศว่า จะยุติการผลักดันเรือผู้อพยพออกไป

“ผมได้ออกคำสั่งเพิ่มเติมไปยัง @tldm_rasmi (กองทัพเรือ) และ APMM (หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางเรือของมาเลเซีย) ให้ดำเนินความพยายามค้นหาและกู้ภัยเรือชาวโรฮิงญาแล้ว” นาจิบ กล่าวในบัญชีทวิตเตอร์ของเขา

“เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิต” เขากล่าว และเสริมว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะถูกส่งไปทางบกและทะเล

ทางด้าน อาร์มานาธา นาซีร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียแจ้งต่อสำนักข่าวเอเอฟพีว่า อินโดนีเซียไม่ได้มีการออกคำสั่งทำนองนี้ แต่ก็ได้มีการหารือกันอยู่

ภายหลังจากทางการไทยดำเนินการปราบปรามแก๊งค้ามนุษย์อย่างขนานใหญ่ กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ก็ปล่อยผู้อพยพที่อยู่ในมือพวกเขาออกไปลอยคว้างกลางทะเลเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในหลายๆ วันที่ผ่านมา โดยที่ในวันแรกๆ ทั้งมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, และไทย ต่างปฏิเสธไม่ยอมรับ เรือเหล่านี้ซึ่งเต็มไปด้วยพวกผู้อพยพท่าทางเหนื่อยอ่อยหิวโหยอยู่กันแน่นขนัด

จนกระทั่งในวันพุธ มาเลเซียกับอินโดนีเซียจึงแสดงท่าทีผ่อนผัน โดยประกาศว่าประเทศของพวกเขาจะยอมรับ “มนุษย์เรือ” เหล่านี้เอาไว้เป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าพวกเขาจะสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่หรือเดินทางไปอยู่ที่อื่นด้วยความช่วยเหลือของหน่วยงานระหว่างประเทศ

การเปลี่ยนโยบายเช่นนี้ได้รับการยกย่องต้อนรับจากสหรัฐฯ โดยที่รัฐบาลอเมริกันก็กำลังจัดส่ง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน เดินทางไปยังกรุงเนปิดอ เพื่อหยิบยกเรื่องชะตากรรมของชาวโรฮิงญาขึ้นมาเจรจาหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ของพม่า

บลิงเคน กล่าวว่า เขาจะหารือในประเด็นการเลือกปฏิบัติของรัฐบาลพม่าต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาใน รัฐยะไข่ ที่ถูกตำหนิอย่างกว้างขวางว่าเป็นชนวนเหตุของวิกฤต

“เราจะพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับรัฐบาลพม่าเกี่ยวกับความรับผิดชอบของ พวกเขาในการปรับปรุงสภาพเงื่อนไขในรัฐยะไข่ เพื่อที่ผู้คนจะไม่ต้องรู้สึกว่าทางเลือกเดียวที่มีคือ เสี่ยงชีวิตออกไปในทะเล” บลิงเคน กล่าวระหว่างแวะพักในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันพุธ (20)

นอกจากนั้นสหรัฐฯยังประกาศว่ายินดีที่จะรับผู้อพยพเหล่านี้เอาไว้เป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรต่อไปสำหรับผู้ที่ไม่ได้ถูกคัดเลือก ตลอดจนสำหรับประเทศที่รับผู้อพยพเหล่านี้ไว้ในตอนแรก

คาดหมายกันว่า การเจรจาระหว่าง บลิงเคน กับเจ้าหน้าที่พม่า จะมีขึ้นในคืนวันพฤหัสบดี

ไม่เพียงฝ่ายอเมริกันเท่านั้น ทางด้าน อานีฟะห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ต่างก็มีกำหนดเดินทางไปเนปิดอ เพื่อพบปะหารือแบบทวิภาคีกับพวกเจ้าหน้าที่พม่า

ด้านรัฐบาลพม่า ยังคงย้ำการปฏิเสธที่จะยอมรับโรฮิงญาว่าเป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยของประเทศ และยืนยันว่า คนเหล่านี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

“หากพวกเขากำลังจะหารือเกี่ยวกับโรฮิงญา อย่างที่เราเคยบอกก่อนหน้า เราไม่ยอมรับคำจำกัดความนั้นที่นี่” ซอ เต ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีพม่า กล่าว แต่ยืนยันว่า พม่าจะเข้าร่วมการประชุมภูมิภาคเกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 พ.ค. ด้วย นอกจากนั้นรัฐบาลพม่ายังดูมีการอ่อนท่าทีลง ด้วยการเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ในอีกด้านหนึ่ง เอเอฟพีรายงานจากเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภายุโรปว่า สมาชิกของสภานิติบัญญัติของสหภาพยุโรป (อียู) แห่งนี้ ได้ออกเสียงผ่านญัตติซึ่งระบุว่า ชาวโรฮิงญารวมถึงผู้อพยพอื่นๆ จำนวนหลายพันคน ถูกลักลอบนำเข้าผ่านประเทศไทยตลอดจนจากประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยฝีมือของพวกค้ามนุษย์ โดยที่ในบางกรณีมีเจ้าหน้าที่ทุจริตของไทยร่วมด้วย ดังนั้นทางการไทยจะต้องจัดการยุติผู้ที่มีการสมรู้ร่วมคิดใดๆ ก็ตาม กับพวกแก๊งอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์

ญัตติของรัฐสภาอียู ระบุอีกว่า มีผู้อพยพจำนวนมากถูกควบคุมตัวให้อยู่ในสภาพทารุณผิดมนุษย์ที่แคมป์ในป่าทางตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งที่นั่นพวกเขาถูกทรมาน ถูกซ้อมและปล่อยให้อดตายด้วยน้ำมือของผู้คุม เพื่อเรียกค่าไถ่จากญาติและคนในครอบครัว หรือขายไปเป็นทาสมนุษย์

นอกจากนั้นญัตตินี้ ยังได้ระบุถึงพม่าด้วยว่า จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและยุติการแบ่งแยกกีดกันและฆ่าฟันชาวโรฮีนจา รวมถึงยอมให้สิทธิการเป็นพลเมืองแก่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น