ผู้เสียหายจากการถูกหลอกร่วมธุรกิจจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน กว่า 100 ราย สูญเงินร่วม 400 ล้านบาท รวมตัวยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับศูนย์ดำรงค์ธรรม ศอ.บต. หลังยื่นเรื่องกองปราบ และ DSI แล้วแต่คดีไม่คืบหน้า
ASTV รายงานว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม นายสุภาพ เรืองปราชญ์ ตัวแทนผู้เสียหาย พร้อมด้วยผู้เสียหายอีกกว่า 20 ราย จากการถูกฉ้อโกง หลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน จากห้างหุ้นส่วนจำกัดสมายล์ทราเวล ซึ่งตึ่งอยู่ที่จังหวัดยะลา ได้เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่เคยนำเรื่องดังกล่าว เข้าร้องเรียนต่อกองปราบ และ DSI เพื่อให้ดำเนินคดีกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมายทราเวล ซึ่งได้หลอกลวงให้เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจ แต่ในภายหลังบริษัทดังกล่าวได้ถูกปิดไป และสูญเงินลงทุนที่ได้นำไปร่วมในธุรกิจเป็นจำนวนเงินมากกว่า 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ ห้างหุ่นส่วนสมายทราเวล ได้ดำเนินธุรกิจในการเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน และรับจองทริปการเดินทางไปยังต่างประเทศ โดยเปิดในอาคารพาณิชย์ เลขที่ 35/2 ถนนรวมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา โดยได้เริ่มจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนในชื่อบำรุงแอร์ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 โดยมีนางสาวต่วนซารานี เจะอูเซ็น และนายอาลาวี มะดิง ลงชื่อผู้จดทะเบียนดำเนินธุรกิจ จำหน่ายตั๋วเครื่องบิน จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อห้างหุ้นส่วนใช้ชื่อว่า สมายทราเวล ก่อนที่จะปิดทำการลงเมื่อวันที่ 2 พ.ค.58 ที่ผ่านมา
นายสุภาพ เรืองปราชญ์ ตัวแทนผู้เสียหาย ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้เสียหายจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ราย ซึ่งไม่เคยรู้จักกันเลย ได้ถูกชักจูง เชิญชวนจากนางสาวต่วนซารานี และนายอาลาวี ให้เข้าร่วมนำเงินมาลงทุนเป็นการหมุนเวียนเงิน โดยจะได้กำไรในการนำเงินมาลงทุนต่อครั้งประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ โดยนางสาวต่วนซารานี จะอาศัยการตีสนิท และมีสัมพันธ์ไมตรีที่ดี พร้อมกับ บอกว่า ตนเองรู้จักหน่วยงานราชาการต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการดิว หรือติดต่อประสานงานกันทุกครั้งที่จะมีทริปการเดินทางไปต่างประเทศ โดยให้นางสาวต่วนซารานี เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องของตั๋วการเดินทาง นอกจากนี้ ก็จะมีทริป หรือกรุ๊ปทัวร์ต่าง ๆ อีกเช่นกัน
“ซึ่งการหลอกลวงให้ร่วมลงทุนนั้น จะทำการโดยให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชี ตามจำนวนที่ตนเองบอก เริ่มตั้งแต่หลักแสนบาท ไปจนถึงหลักล้านบาท และจะโอนคืนกลับมาให้ หลังจากที่หน่วยงานต่าง ๆ นำเช็คเข้าบัญชีให้แล้ว ซึ่งในครั้งแรก ๆ ก็จะได้เงินกลับคืนมาทุกครั้ง พร้อมกับผลกำไร ที่ได้ตกลงคุยกัน แต่ในช่วงเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการคือนางสาวต่วนอารานี ได้ผิดนัดบ่อยครั้ง และไม่โอนเงินกลับมา บางครั้งโอนเงินกลับมาให้แล้ววันถัดไปก็จะบอกว่ามีทริปให้ร่วมลงทุนอีก ก็โอนเงินเข้าไปร่วมอีก จนล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายน 58 ที่ผ่านมา ก็พบความผิดสังเกต คือการ ผิดนัดชำระ และไม่มีการโอนเงินคืนมาให้กับผู้ร่วมลงทุน จำนวนหลายราย จากนั้นได้มีการติดต่อประสานไปยังนางสาวต่วนซารานี ผู้ประกอบการ และได้เดินทางไปยังบ้านของนางสาวต่วนซารานี ก็พบว่า นางสาวต่วนซารานี มีอาการทางประสาท ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตนเอง และผู้เสียหายอีกจำนวนนับร้อยราย ก็ยังไม่อยากปักใจเชื่อ” นายสุภาพ ผู้เสียหาย กล่าว
นอกจากนี้ หลังจากที่ทราบว่า เงินที่ร่วมลงทุนไปนั้นคงสูญหายแน่ และมีการพบปะกับผู้เสียหายรายอื่น ๆ ก็พบว่า มีผู้เสียหายถูกหลอกให้รวมลงทุนในธุรกิจที่มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่นี้จำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ราย ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภูเก็ต ตรัง และ กทม. ซึ่งหากคิดรวมเป็นเงินที่ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนก็มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท
นายสุภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองพร้อมกับผู้เสียหายรายอื่น ๆ ได้เดินทางไปยื่นเรื่องต่อกองปราบ และ DSI มาแล้ว และกำลังรอการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมกับศูนย์ดำรงค์ธรรมในวันนี้ ตนเองต้องการให้เจ้าหน้าที่เร่งรัด และนำตัวผู้หลอกดำเนินธุรกิจมาดำเดินคดี ซึ่งในทุกวันนี้ ยังไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ กับผู้ประกอบธุรกิจคนดังกล่าว แม้ว่าจะมีการปิดห้างหุ้นส่วนไปแล้ว โดยเชื่อว่า การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ อาจจะมีผู้อยู่เบื้องหลังเป็นขบวนการขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้
นอกจากนี้นายสุภาพเปิดเผยเพิ่มเติมกับสำนักข่าว i-News ว่าหลังเข้าร้องเรียนกับทางศอ.บต. ทางผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม ได้แจ้งว่าจะประสานงานกับทางกองปราบ เพื่อเร่งรัดคดี และจะประสารกับ DSI เพื่อให้กับเป็นคดีพิเศษต่อไป