อินโดนีเซียบอก “ผู้อพยพทางเรือ” ส่วนใหญ่ไม่ใช่ “โรฮิงญา” ตัวจริง

รัฐบาลอินโดนีเซียแจ้งให้ออสเตรเลียทราบว่า ผู้อพยพที่ล่องเรือเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกกดขี่ในเมียนมาร์ แต่เป็นชาวบังกลาเทศที่ต้องการหนีเข้ามาเป็น “แรงงานเถื่อน” จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแดนจิงโจ้ เผยในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์วันนี้ (23 พ.ค.)

ช่วงสิบกว่าวันที่ผ่านมามีผู้อพยพกว่า 3,500 คนว่ายน้ำขึ้นฝั่ง หรือได้รับความช่วยเหลือจากทางการมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และบังกลาเทศ หลังจากรัฐบาลไทยมีมาตรการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

รัฐมนตรีหญิงแดนจิงโจ้ได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ เดอะ วีคเอนด์ ออสเตรเลียน โดยระบุว่า ทางอินโดนีเซียประเมินว่า มีผู้อพยพทางเรือเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของเมียนมาร์

“พวกเขา (อินโดนีเซีย) เชื่อว่า มีผู้อพยพล่องเรืออยู่กลางทะเลประมาณ 7,000 คน และ 30-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นโรฮิงญา นอกนั้นเป็นชาวบังกลาเทศ ซึ่งกลุ่มหลังนี้กรุงจาการ์ตาเรียกว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย (illegal labourers) ไม่ใช่ทั้งผู้ที่ต้องการขอลี้ภัย (asylum seekers) หรือผู้ลี้ภัย (refugees)”

“อินโดนีเซียระบุด้วยว่า ชาวโรฮิงญาเดินทางไปบังกลาเทศ และปะปนกับกลุ่มชาวบังกลาเทศที่ล่องเรือมายังมาเลเซียเพื่อหางานทำโดยเฉพาะ”

บิชอป ยังอ้างถึง ฮาซัน เกลอิบ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกิจการพหุภาคีของอินโดนีเซีย ซึ่งเล่าให้เธอฟังว่า พบเรือลำหนึ่งอัดแน่นด้วยชาวบังกลาเทศประมาณ 400-600 คน

นานาชาติพยายามกดดันให้รัฐบาลเมียนมาร์เข้ามามีส่วนช่วยสกัดคลื่นผู้ลี้ภัยโรฮิงญา และมอบความช่วยเหลือต่อผู้อพยพอีกหลายพันที่ยังติดค้างอยู่กลางทะเล

เมื่อวานนี้ (22) กองทัพเรือเมียนมาร์ระบุว่า ได้เข้าช่วยเหลือเรือผู้อพยพลำหนึ่งในอ่าวเบงกอล และนำคนบนเรือ 208 ชีวิตกลับเข้าฝั่ง

ทิน หม่อง ซเว เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำรัฐยะไข่ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า บนเรือลำดังกล่าวมีชาวบังกลาเทศอยู่ประมาณ 200 คน

“เบงกาลี” เป็นคำซึ่งเจ้าหน้าที่เมียนมาร์มักใช้เรียกชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 1.3 ล้านคนซึ่งอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินเมียนมาร์ แต่ไม่ได้รับสิทธิความเป็นพลเมือง

รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายปิดกั้นผู้ลี้ภัยทางเรืออย่างจริงจัง โดยนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ ได้แถลงวานนี้(22)ว่า ออสเตรเลีย “จะไม่ทำอะไรก็ตามที่ส่งเสริมให้คนเหล่านั้นคิดว่าพวกเขาสามารถล่องเรือมาได้ หรือคิดว่าออสเตรเลียจะจัดโครงการให้ที่พักพิงแก่พวกเขา เพราะนั่นเท่ากับสนับสนุนการค้ามนุษย์”

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น