พม่าระบุจะส่งตัวผู้อพยพที่ช่วยไว้จากกลางทะเลไปบังกลาเทศ

กลุ่มผู้อพยพที่เพิ่งได้รับการช่วยเหลือเมื่อไม่นานนี้โดยพม่า จะถูกเนรเทศไปยังบังกลาเทศ ตามการระบุยืนยันของเจ้าหน้าที่วานนี้ (23) ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ในภูมิภาคให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือชีวิตผู้ที่ยังติดค้างอยู่กลางทะเล

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังต่อสู้กับปัญหาการอพยพของมนุษย์เรือจำนวนมากที่หลบหนีการกดขี่ และความยากจน คาดว่ายังมีผู้อพยพยมากถึง 2,000 คน ติดค้างอยู่กลางอ่าวเบงกอล

ผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา จากรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่า กลุ่มคนที่ทางการพม่าไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของประเทศ และเรียกว่าเบงกาลี หรือผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ขณะที่ชาวบังกลาเทศก็พยายามที่จะหลบหนีจากความยากจนเช่นกัน

ผู้อพยพมากกว่า 3,500 คน ว่ายเข้าฝั่ง หรือได้รับการช่วยเหลือที่บริเวณนอกชายฝั่งของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และบังกลาเทศ นับตั้งแต่ไทยปราบปรามการค้ามนุษย์เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.

ส่วนพม่าต้องเผชิญต่อแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากนานาประเทศที่ต้องการให้พม่าจัดการต่อผู้อพยพจำนวนมากที่หนีมาจากชายฝั่งประเทศของตัวเอง และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนต่อผู้ที่ยังติดอยู่ในทะเลอีกหลายพันคน

เมื่อวันศุกร์ (22) กองทัพเรือของพม่าระบุว่า ได้ดำเนินการช่วยเหลือเรือผู้อพยพเป็นครั้งแรก และพาขึ้นฝั่ง เจ้าหน้าที่พม่าระบุว่า กลุ่มชายที่พบบนเรือประมงมีทั้งหมด 208 คน มาจากบังกลาเทศและจะถูกส่งกลับไปยังบังกลาเทศเร็วๆ นี้

“เราให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พวกเขา หลังจากนั้นเราจะส่งพวกเขากลับไปยังประเทศที่เกี่ยวข้อง เราได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชายแดนบังกลาเทศภาคพื้นดินเกี่ยวกับผู้ที่จะเดินทางไปถึง” ซอ เต ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีพม่า กล่าว

กองกำลังรักษาความปลอดภัยพรมแดนของบังกลาเทศระบุว่า ทีมของบังกลาเทศจะเดินทางไปยังพม่าเร็วๆ นี้

“ผู้บัญชาการของเราจะเดินทางไปด้วยตัวเอง ขั้นตอนทั้งหมดอาจใช้เวลา 2-3 วัน” โฆษกประจำด่านชายแดนเมืองเทคนาฟ (Tecnaf) กล่าว

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งระบุว่า บังกลาเทศต้องการที่จะมั่นใจว่าพม่าไม่ได้ส่งชาวโรฮิงญามาด้วย

การช่วยเหลือของกองทัพเรือพม่ามีขึ้นท่ามกลางความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผู้อพยพยที่ยังคงติดอยู่กลางทะเลในขณะที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูมรสุม

บัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในระหว่างการเยือนกรุงฮานอยว่า การค้นหาและช่วยชีวิตผู้อพยพเหล่านี้ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก และเรียกร้องให้ชาติต่างๆ ในภูมิภาคจัดการกับต้นตอของปัญหาการอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมากในที่ประชุมที่จะมีขึ้นในประเทศไทยปลายเดือนนี้

โรฮิงญา เผชิญต่อการเลือกปฏิบัติ และข้อจำกัดจำนวนมาก หลายคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ไร้ที่อยู่ หลังชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกฆ่าในปี 2555 จากเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นโดยกลุ่มชาวพุทธ

เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดคลื่นการอพยพของผู้คนทางทะเล ผู้อพยพส่วนใหญ่มุ่งที่จะเดินทางไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผ่านเครือข่ายลักลอบที่อันตรายซึ่งอยู่ทั่วภูมิภาค

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศหลายแสนคนได้ทิ้งบ้านเรือนของตัวเองจนกลายเป็นการอพยพทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนาม

การลักลอบอพยพส่วนใหญ่ดำเนินการโดยไม่ถูกขัดขวาง จนกระทั่งทางการไทยเข้าปราบปรามเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์ในภาคใต้ ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องในขบวนการต้องทิ้งเหยื่อของตัวเอง ส่วนผู้ลักลอบคนอื่นๆ ที่อยู่นอกชายฝั่งพม่าก็ไม่สามารถส่งคนไปต่อได้ เพราะการปราบปราม เลยปล่อยให้บรรดาผู้อพยพติดค้างอยู่บนเรือที่ลอยลำอยู่ในอ่าวเบงกอล

ผู้อพยพบางส่วนเดินทางกลับพม่าหลังญาติพี่น้องระดมเงินซื้อตัวกลับจากนายหน้า แต่หลายคนคาดว่า ยังคงติดค้างอยู่บนเรือ และเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เข้าช่วยเหลือคนเหล่านั้นก่อนที่ภูมิภาคนี้จะเข้าสู่ฤดูมรสุม

กระแสชาตินิยมชาวพุทธในพม่าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเหตุความรุนแรงโจมตีชนกลุ่มน้อยมุสลิมได้เพิ่มความสงสัยต่อการปฏิรูปที่พม่าอ้างไว้ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวนมากแสดงความคิดเห็นต่อประกาศของรัฐบาลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อพยพเมื่อเร็วๆ นี้ว่า พม่าไม่ต้องการคนเหล่านี้ ให้ผลักดันออกไป ขณะที่ นางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพยังไม่แสดงความเห็นต่อเหตุวิกฤตนี้ ซึ่งบรรดาผู้สังเกตการณ์ระบุว่า อาจวิตกเกี่ยวกับเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปี

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น