เกษตรกรอินเดีย 290,000 คน “ฆ่าตัวตาย” หลังถูกบีบให้ซื้อพันธุ์ฝ้าย GMO ราคาแพงจากมอนซานโต

เกษตรกรอินเดียจำนวน 290,000คนต้องเลือกที่จะจบชีวิตหลังจากที่ถูกบังคับให้ซื้อพันธุ์ฝ้ายตัดต่อพันธุกรรม บีที จากมอนซานโต บริษัทยักษ์ใหญ่เคมีภัณฑ์สหรัฐฯ ที่มีราคาสูงมาก และยังมีการดูแลรักษาที่ยุ่งยาก จนทำให้เกษตรกรอินเดียจำนวนมากล้มละลาย และเลือกที่จะจบชีวิต

RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวานนี้(24)ว่า เกษตรกรอินเดียจำนวนมากถูกบีบไม่ให้ปลูกฝ้ายท้องถิ่นทั่วไปเหมือนในอดีต แต่จำเป็นต้องหันมาปลูกฝ้ายบีทีสายพันธุ์ GMO แทน และต้องประสบปัญหาอย่างหนักจากปัญหาราคาสูงลิ่วของพันธุ์ฝ้ายบีทีและไม่สามารถหาทางออกได้จนทำให้ฆ่าตัวตายในที่สุด

“จากสถิติแห่งชาติอินเดียในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีเกษตรกรอินเดียจำนวนถึง 290,000 คนที่ต้องจบชีวิต” ดอกเตอร์ จี วี รามานจาเนยูลู ( G. V. Ramanjaneyulu) จากศูนย์เกษตรยั่งยืนอินเดียให้สัมภาษณ์กับ RT

ทั้งนี้ทีมข่าวสื่อรัสเซียได้บินตรงไปอินเดียเพื่อเจาะลึกปัญหานี้โดยตรง และพบว่าปัญหาเดียวกันเกิดขึ้นกับครอบครัวเกษตรกรอินเดียหลังจากที่ได้คุยปรับทุกข์กับสมาชิกครอบครัวรวมไปถึงภรรยาม่ายจำนวนมากที่สามีทนสภาพปัญหาไม่ไหว และด่วนตัดสินใจปลิดชีพตนเองในที่สุดหลังจากต้องถูกกดดันให้หันมาปลูกฝ้ายตัดแต่งพันธุกรรมบีที ลิขสิทธิ์ของบริษัทเคมีภัณฑ์ “มอนซานโต” ทำให้เกษตรกรอินเดียต้องเป็นหนี้เป็นสินเป็นจำนวนมาก และเมื่อฝ้ายไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ เกษตรกรอินเดียเหล่านั้นหันไปหาทางออกด้วยการกินยาปราบศัตรูพืชปลิดชีวิตตนเองแทน

“สามีของดิฉันกินยาปราบศัตรูพืชปลิดชีพ และหลังจากที่เราพบศพเขาที่มีจดหมายในกระเป๋า เขามีหนี้เป็นจำนวนมากและตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะปัญหาหนี้พวกนั้นหลังจากได้จำนองไร่ไป” หนึ่งในหญิงม่ายอินเดียเผย และลูกสาวเผยต่อว่า “ เขาทำงานทั้งวัน แต่ไม่สามารถทำให้ฝ้ายที่ปลูกจ่ายหนี้สิ้นได้”

สื่อรัสเซียรายงานว่า การที่จะทำให้พืช GMO ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีการชลประทานที่ดี โดยเกษตรกรที่มีฐานะมักจะแบ่งปันพันธ์ฝ้าย GMO ให้กับเกษตรกรที่ยากจนกว่า ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มักมีการศึกษาน้อยและไม่ทราบถึงข้อจำกัดการปลูกพืช GMO ให้ได้ประสบความสำเร็จ

“ฝ้ายบีทีเป็นสิ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาเกษตรกรอินเดียที่ประสบปัญหาการปลูกฝ้ายในอดีตที่ผ่านมา แต่ทว่ามีสิ่งอื่นทีทำให้มีปัญหาที่มากไปกว่านั้น” คิรันคูมาร์ วิสซา (Kirankumar Vissa)กล่าวและเสริมว่า “มีพื้นที่เป็นจำนวนมากที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก และที่มากไปกว่านี้ บริษัทมอนซานโตผู้ผลิตฝ้ายบีทีโฆษณาเกินจริงว่า ผลิตภัณฑ์นี้เหมาะกับพื้นที่ชลประทานและพื้นที่นอกชลประทาน ซึ่งนี้ถือเป็นการหลอกลวงเกษตรกรโดยสิ้นเชิง”

เอเล็กซิส บาเดน-เมเยอร์ (Alexis Baden-Mayer) ผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของสมาพันธ์ผู้บริโภคพืชเกษตรอินทรีย์ (Organic Consumers Association) เปิดเผยว่า ฝ้ายบีทีนั้นมีจำหน่ายเฉพาะในอินเดียเท่านั้น และมีปัจจัยควบคุมมาก

“ฝ้ายบีทีแพงมากกว่าฝ้ายท้องถิ่นถึง 8,000% แต่ทว่าพันธุ์ฝ้ายตามธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่เกษตรกรอินเดียหาซื้อไม่ได้เพราะมอนซานโตเป็นผู้คุมตลาดพันธุ์ฝ้ายอินเดียไว้ บาเดน-เมเยอร์ให้สัมภาษณ์กับ RTD ว่าอินเดียเป็นตลาดพืช GMO ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

“ประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ปฎิเสธพืช GMO แต่อินเดียอนุญาตให้ปลูกฝ้าย GMO ได้เท่านั้น และสิ่งนี้ไม่ได้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ และแน่นอนที่สุดไม่ช่วยเกษตรกรอินเดียที่กำลังปลูกฝ้าย GMO เพราะพืช GMO ได้ปิดช่องทางโอกาสของเกษตรกรไม่ให้มีทางเลือกอื่น เพราะเกษตรกรอินเดียที่อยู่นอกพื้นที่การทำชลประทานถูกบังคับให้ปลูกฝ้าย GMO ที่ต้องพึ่งชลประทายเป็นหลัก

RT สื่อรัสเซียรายงานปิดท้าย บริษัทมอนซานโตได้ออกแถลงการณ์โต้การรายงานปัญหาการฆ่าตัวตายเกษตรกรอินเดียครั้งนี้ว่า “การค้นพบปัญหาฆ่าตัวตายของเกษตรกรอินเดียยังคลุมเครือและไม่สามารถระบุได้ว่าพืช GMOของบริษัทเป็นสาเหตุ” และแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า “การวิจัยยังชี้ว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างการฆ่าตัวตายของเกษตรกรอินเดียและการปลูกพืช GMO”

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น