กองบัญชาการกองทัพไทย ดึงสามเหล่าทัพตั้ง ศอ.ยฐ. ระดมกำลัง ยุทโธปกรณ์ร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้อพยพชาวโรฮิงญา มอบ “วรพงษ์” นั่งผู้อำนวยการศูนย์
ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทหารอากาศ และ พล.อ.สุจินต์ เอี่ยมปี รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกันแถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์อำนวยการลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย หรือ ศอ.ยฐ. (Operation Center For Patrol and Humanitarian Assistance to lrregular Migrants in the Indian Ocean (OCPHAM) โดยมี พล.อ.วรพงษ์ ทำหน้าที่เป็น ผอ.ศอ.ยฐ. โดยศูนย์ดังกล่าวจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป
พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ปัญหาของผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค และในระดับโลก รัฐบาลมีความห่วงใยด้านในด้านมนุษยธรรมของผู้โยกย้ายถิ่นฐานเหล่านี้ ทางนายกรัฐมนตรีมีนโยบายและคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมไปดูแลว่าจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ รมว.กลาโหมได้สั่งการให้กองบัญชาการกองทัพไทยจัดตั้งศูนย์ ศอ.ยฐ.ขึ้นมา โดยใช้โครงสร้างศูนย์บัญชาทางทหารของเหล่าทัพเป็นศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย
พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ศอ.ยฐ.มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติการลาดตระเวน และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงกรณีการร้องขอในการร่วมดำเนินการของมิตรประเทศ เราก็จะเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการของมิตรประเทศด้วย สิ่งสำคัญใน ศอ.ยฐ.จะมีศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ (ศปก.ทร.) หรือศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกองทัพเรือ โดยจะมีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในทะเลอันดามัน ซึ่งจะมีการส่งกำลังพล รวมถึงทรัพยากรไปลอยล้ำในทะเลเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ความช่วยเหลือ หากพบเจอเรือผู้อพยพ ทั้งอาหาร น้ำ ด้านการแพทย์ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ชาวโรฮิงญาต้องการ พร้อมทั้งประสานงานไปยังประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อกลุ่มคนเหล่านี้เดินทางไปตามที่ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งถือเป็นการบูรณาการร่วมกัน เพราะต้องเข้าใจว่าผู้อพยพไม่ต้องการที่จะเข้ามาประเทศไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ลงเรือและมาลำบากตรงบริเวณน่านน้ำของไทย เราจึงจำเป็นที่จะต้องดูแลเรื่องความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เราจะเน้นในเรื่องเจตนาของผู้อพยพเป็นหลักว่าจะต้องการไปที่ใด
“รมว.กลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยกองทัพเรือมีการลาดตระเวนอยู่แล้วในกรอบปกติ และจะมีการลาดตระเวนทางเรือ และทางอากาศ ในกรอบของ ศอ.ยฐ.ด้วย และในส่วนของกองทัพอากาศ ก็จะมีการลาดตระเวนตามปกติ และจะมีการปฏิบัติการทางอากาศในพื้นที่ทะเลอันดามันโดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้ด้วยเช่นกัน โดยระยะเวลาในการปฏิบัติงาน จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะจบภารกิจ โดยขั้นต้นทางหน่วยปฏิบัติการของ 3 เหล่าทัพ ได้วางแผนไว้ 2 สัปดาห์ สำหรับงบประมาณในการใช้จ่ายเบื้องต้นจะใช้งบประมาณประจำปีสำรองเบิกจ่ายไปก่อน ก่อนที่จะไปเบิกจ่ายในงบประมาณส่วนกลาง”
พล.อ.วรพงษ์กล่าวยืนยันถึงสาเหตุที่มีการจัดตั้ง ศอ.ยฐ.ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่ทางสหรัฐอเมริกาขอน้ำอากาศยานเข้ามาบินสำรวจเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในน่านน้ำของประเทศไทย ทั้งนี้หากรัฐบาลเห็นว่าการที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามาร่วมปฏิบัติเป็นประโยชน์ก็จะต้องเข้ามาอยู่ใต้การควบคุมของ ศอ.ยฐ. ทั้งนี้ในการวางแผนการลาดตระเวนทางอากาศ ในภาพรวมทางกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการ ในเรื่องของการลาดตระเวนทางทะเล กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบ หากมีความจำเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดในการปฏิบัติงาน ทางผู้ปฏิบัติก็จะส่งขึ้นมา แล้วก็จะต้องขออนุมัติ เพราะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ออกมาใช้ และในเรื่องของงบประมาณ โดยให้แต่ละหน่วยงานไปวางแผนมา
สำหรับโครงสร้างของศูนย์ฯ จะมีส่วนของ ศปก.ทบ.ที่เป็นในส่วนของ กอ.รมน. เพราะเราจะมีการประสานทั้งทางทะเล และบนฝั่ง จะมีการรับช่วงกันตลอด สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ในวันที่ 29 พ.ค.จะมีการประชุมกัน ให้สอบถามกับทาง รมว.ต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีประเทศใดหรือไม่ที่จะมาขอใช้พื้นที่ในการบินลาดตระเวนร่วมกับเรา พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีสหรัฐอเมริกาได้ขอมาใช้ในการนำเครื่องบินออกลาดตระเวน เราอยู่ระหว่างพิจารณา ทางสหรัฐฯ ได้เข้าไปขอใช้พื้นที่ของประเทศมาเลเซีย ทางมาเลเซียก็อนุญาตอำนวยความสะดวกให้แล้ว แต่เขาก็ต้องการใช้พื้นที่บ้านเราเพราะว่าใกล้กว่า แต่อยู่ระหว่างการเจรจาร้องขอ
ด้าน พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า ทางกองทัพเรือจะใช้กำลังหลักจากทัพเรือภาคที่ 3 ทั้งหมด และใช้เรือหลวงอ่างทอง ขณะนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ตนได้สั่งการให้ออกมาตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมาถึงในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงบ่าย ทั้งนี้ เรือหลวงอ่างทองเป็นเรือระบายกำลังพลขนาดใหญ่ และมีพื้นที่สำหรับรองรับเฮลิคอปเตอร์ที่ออกปฏิบัติการทางทะเลได้ดี นอกจากนี้จะใช้เรือในทัพเรือภาค 3 จำนวน 8 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ และมีดอร์เนีย 2 ลำ ซึ่งสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย โดยคาดว่าจะตั้งฐานบริเวณเกาะสิมิลันต่อจากประเทศพม่าด้านบน เน้นบริเวณน่านน้ำในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ คงจะไม่ออกไปในเขตทะเลหลวง พร้อมทั้งจะมีการกระจายกำลังหากมีคลื่นลมค่อนข้างแรงโดยจะกระจายกำลังไปยังเกาะหลีเป๊ะ อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้กองทัพเรือจะส่งแพทย์จากส่วนกลางไปเพิ่มเติมให้แก่ทัพเรือภาค 3 เดิมมีอยู่ประมาณ 2 คนเท่านั้น
ด้าน พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เสนาธิการทมหารอากาศ กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพอากาศได้รับคำสั่งจากศูนย์บัญชาการทางทหารให้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย ในส่วนของทัพอากาศ (ศอ.ยฐ.ทอ.) มี พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีหน้าที่หลักคือการบูรณาการการเฝ้าตรวจ จัดอากาศยานซึ่งจะมีอากาศยานของทางกองทัพเรือภาค 3 และของกองทัพอากาศเอง โดยการดำเนินการได้เริ่มขึ้นแล้ว ในวันนี้จะมีการออกคำสั่งทางยุทธการ เพื่อให้เครื่องบินของกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้เฝ้าตรวจการถึงเวลา 19.00 น.ทุกวันไป ในขั้นตนที่ทางผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้แจ้งไปแล้วว่าภารกิจตั้งไว้ 2 สัปดาห์ แต่ทางกองทัพอากาศได้วางแผนดังกล่าวไว้แล้ว เดือนเศษอย่างน้อย ตนยกตัวอย่างเช่นในวันนี้ (26 พ.ค.) มีเคลื่อนลมแรงสูงถึง 2 เมตร ก็จะต้องออกไปจากชายฝั่งไกล เพราะฉะนั้นการออกลาดตระเวนทางอากาศของเราก็จะต้องออกถึง 200 ไมล์ทะเล ตั้งแต่จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ซึ่งจะมีการประสานใกล้ชิดกับสถานีของเรือที่วางกำลังอยู่ในเส้นทางที่เรือของผู้ที่โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติได้ผ่านเข้าออก ซึ่งจะมีการรายงานในส่วนของการปฏิบัติการลาดตระเวนทางอากาศ ส่งให้กับศูนย์บัญชาการทางทหารทุกวัน
พล.อ.อ.จอมกล่าวว่า ในส่วนของกองทัพอากาศจะมีภารกิจอีกส่วนหนึ่ง คือ การกำกับดูแลการปฏิบัติการของอากาศยาน กรณีองค์กรระหว่างประเทศ หรือมิตรประเทศ ขอใช้พื้นที่แล้วได้รับการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ จะมาอยู่ภายใต้การกำกับของ ศอ.ยฐ.ทอ. ตามที่กระทรวงกลาโหมได้สั่งการมา การปฏิบัติงานในครั้งนี้ทางกองทัพอากาศได้ใช้เครื่องบิน อาทิ ซาบบ์ 340 เออีดับเบิลยู ที่ทำการบินได้ 7 ชั่วโมง กริพเพน และก็จะมีการใช้อุปกรณ์พิเศษส่วนหนึ่ง และลาดตระเวนด้วยสายตาส่วนหนึ่ง และกองทัพเรือจะเป็นการประสานงานใกล้ชิดเพื่อชี้เป้าหมาย และมีการประสานการติดต่อเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างเรียบร้อยในประเด็นเรื่องของมนุษยธรรมโดยแท้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เราใช้เครื่องบินกริพเพน ในการร่วมปฏิบัติงานด้วยหรือไม่ พล.อ.อ.จอมกล่าวว่า ทางกองทัพอากาศใช้ทั้ง 2 หน่วยบิน ซึ่งกริพเพนมี 8 ลำ หาก ศอ.ยฐ.ทอ.สั่งการไปสามารถบินได้ทุกลำลำไหนก็ได้ หากการออกปฏิบัติงานไปครั้งละ 2 ลำ เราไม่ได้ติดว่าเครื่องบินลำไหนใช้ในภารกิจอะไร เราสามารถใช้ได้ทั้ง 2 หน่วยบิน คือ 7021 และ 7022 ซึ่งเป็นหน่วยยุทธวิธีการป้องกันประเทศ แต่เราโยกมาใช้ภารกิจทางทะเล เพราะสามารถบินได้ภายใน 10 นาที ในระยะทาง 200 ไมล์ทะเล
พล.อ.สุจินต์ เอี่ยมปี รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานปฏิบัติที่ 2 กอ.รมน.กล่าวว่า มีกำลังดูแลในพื้นที่ชายแดน ในการปฏิบัติหากผ่านจากน่านน้ำขึ้นมาบนบก ทางหน่วยรักษากฎหมายทุกหน่วย ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จะเข้ามาดูแล ในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา หลังจากนั้นจะส่งไปที่สำงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม.ที่อยู่ในพื้นที่ ทำการดูแลเพื่อช่วยให้เดินทางไปยังปลายทางที่ชาวโรฮีนจาต้องการเดินทางไป ซึ่งขณะนี้ทางเราก็ได้มีการดูแลอยู่จำนวนหนึ่ง จำนวน 779 คน ค่าอาหาร 75 บาท/วัน/คน เราได้มีการเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทั้งหมดว่ามีการหลบซ้อนอยู่ในพื้นที่อีกหรือไม่ถ้าพบก็จะนำออกมาดูแล