บังกลาเทศเดินหน้าแผนย้ายผู้อพยพชาวโรฮิงญาไปอยู่เกาะ

บังกลาเทศมีแผนย้ายชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้อพยพใกล้ชายแดนพม่า ไปยังเกาะแห่งหนึ่งทางใต้ของประเทศ

เจ้าหน้าทีระดับสูงของบังกลาเทศเผยในวันพุธ(27) ว่ารัฐบาลได้เริ่มแผนย้ายชาวโรฮิงญาไปยังเกาะฮาติมา ในอ่าวเบงกอลแล้ว ในความเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา “จะมีการย้ายค่ายชาวโรฮิงญาอย่างแน่นอน จนถึงตอนนี้ ก้าวย่างต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการได้เริ่มดำเนินการแล้ว” อามิต คูมาร์ บาอูล หัวหน้าหน่วยผู้ลี้ภัยพม่าของรัฐบาลบอกกับเอเอฟพี

อย่างไรก็ตามแกนนำชาวโรฮิงญารายหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศทบทวนมาตรการดังกล่าว โดยบอกว่าแผนนี้รังแต่จะทำให้ชีวิตของผู้ลี้ภัยเลวร้ายลง หลังจากจำนวนมากทุกข์ทรมานอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยมานานหลายปีนับตั้งแต่หลบหนีความรุนแรงมาจากพม่า “เราต้องการให้รัฐบาล(บังกลาเทศ)และองค์กรนานาชาติแก้ไขปัญหาของเราจากตรงนี้”

บังกลาเทศเป็นที่พักพิงของผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ลงทะเบียนกว่า 32,000 คน โดยคนเหล่านี้พักอาศัยอยู่ในค่าย 2 แห่งในเขตค็อกส์บาซาร์ ซึ่งอยู่ติดชายแดนพม่า หลังพวกเขาหลบหนีการถูกข่มเหงและเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติจากชนกลุ่มใหญ่ชาวพุทธในพม่า

หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพที่ค่าย 2 แห่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 1991 บอกว่าแผนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเป็นไปตามความสมัครใจของชาวโรฮิงญา “ความสำเร็จของแผนจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของค่ายใหม่ และผู้อพยพอยากไปอยู่ที่นั่นหรือไม่ แต่หากเป็นการบังคับ ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนและเกิดประเด็นโต้เถียง” โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ(UNHCR) บอกกับเอเอฟพี

บาอูล บอกว่ามูลเหตุบางส่วนของการย้ายค่ายผู้ลี้ภัยครั้งนี้ เกิดจากความกังวลว่าที่ตั้งปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของค็อกส์บาซาร์ อันเป็นที่ตั้งของชายหาดยาวที่สุดในโลก “รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นแผนการย้ายค่ายผู้ลี้ภัยจึงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ”

รายละเอียดแผนย้ายผู้อพยพของบังกลาเทศถูกเผยแพร่ออกมาไม่กี่วันหลังจากนายกรัฐมนตรีฮาซินา เพิ่งประณามผู้อพยพทางเศรษฐกิจของประเทศว่าเป็นพวกป่วยทางจิตและกล่าวหาว่ากำลังทำลายภาพลักษณ์ของชาติ

ในส่วนของเกาะที่จะถูกใช้เป็นค่ายผู้อพยพโรฮีนจานั้นยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่เจ้าหน้าที่ได้เริ่มเตรียมการสำหรับหาที่ตั้งใหม่แล้ว โดยผู้บริหารงานส่วนท้องถิ่นเกาะฮาติมา บอกว่าพื้นที่ 1,250 ไร่บนเกาะ ถูกระบุว่าเหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งใหม่ของค่ายผู้อพยพ

อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวนี้ไม่รวมถึงผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกราวๆ 200,000 คน ที่หลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามาในช่วงทศวรรษก่อนและลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศ

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น