เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของพม่าระบุว่า ผู้อพยพ 150 คน ที่พบอยู่บนเรือที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่งพม่าจะถูกส่งตัวกลับบังกลาเทศวันจันทร์ (8) ในการเดินทางกลับบ้านที่ผู้อพยพหลายคนพยายามหลบหนีออกมาเมื่อหลายเดือนก่อน
วิกฤตการอพยพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่เป็นเหตุให้ชาวบังกลาเทศและชาวโรฮิงญาจากพม่าหลายพันคนติดอยู่กลางทะเล และนับแต่นั้น มีผู้อพยพราว 4,500 คน ได้กลับขึ้นฝั่ง แต่สหประชาชาติคาดการณ์ว่ายังมีผู้อพยพอีกราว 2,000 คน ยังติดอยู่กลางทะเล
ผู้อพยพเกือบ 1,000 คน ได้ถูกนำตัวมายังรัฐยะไข่ของพม่า ซึ่งติดกับพรมแดนบังกลาเทศ หลังกองทัพเรือของพม่าตรวจพบผู้อพยพในเรือ 2 ลำ ในอ่าวเบงกอล
เบื้องต้นทั้งพม่าและบังกลาเทศต่างไม่สมัครใจที่จะรับผู้อพยพเหล่านี้ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิตกว่าผู้อพยพบางคนอาจถูกผลักดันไปผิดประเทศ แต่ในเวลานี้ดูเหมือนว่าทั้งสองประเทศได้เห็นชอบกับสัญชาติของผู้อพยพบางส่วนที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งมาจากเรือลำแรกที่มีผู้อพยพราว 200 คน ที่กองทัพเรือพม่าพบในทะเลช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
“บังกลาเทศจะขนย้ายผู้อพยพ 150 คน หลังการหารืออย่างเป็นมิตรระหว่างสองประเทศ” ซอ นาย รองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเมืองหม่องโดว กล่าว
กลุ่มผู้อพยพชายล้วนได้ย้ายออกจากค่ายพักในวันจันทร์ (8) ไปยังสะพานข้ามแม่น้ำนาฟ (Naf) ที่กั้นกลางระหว่างสองประเทศ ตามการรายงานของผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี
ผู้อพยพทั้งหมดได้รับเสื้อผ้าชุดใหม่ที่ทำให้ดูแตกต่างไปจากวันแรกที่พบผู้อพยพในสภาพมอมแมม ไม่สวมเสื้อ และหิวโหย หลังเบียดเสียดอยู่บนเรือกลางทะเลหลายสัปดาห์
พม่าระบุในตอนแรกว่าผู้อพยพทั้ง 208 คน บนเรือลำแรกที่พบมาจากบังกลาเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกว่าพม่าอาจพยายามที่จะเนรเทศชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ไม่เป็นที่ต้องการร่วมไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางการพม่ายังไม่ระบุชัดเจนถึงต้นกำเนิดของผู้อพยพที่เหลือนั้นมาจากที่ใด และอะไรจะเกิดขึ้นกับผู้อพยพเหล่านี้ที่ดูเหมือนจะไม่ได้มาจากดินแดนบังกลาเทศ ส่วนผู้อพยพอีก 733 คน ที่พบบนเรืออีกลำหนึ่งในวันที่ 19 พฤษภาคม นั้น ก็ยังไม่ได้ตัดสินเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศอยู่ในระหว่างการดำเนินการระบุสัญชาติของผู้อพยพดังกล่าว