มาเลย์ประท้วงเรือยามฝั่งจีนบุกรุกเขต ศก.จำเพาะเหนือเกาะบอร์เนียว

รัฐบาลมาเลเซียเตรียมยื่นหนังสือประท้วงต่อทางการปักกิ่ง เหตุเรือยามฝั่งจีนรุกล้ำน่านน้ำทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่แดนเสือเหลืองได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

เมื่อวันจันทร์ (8) หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้อ้างคำพูดของ ชาฮิดัน กัสซิม รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งระบุว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เตรียมหยิบยกปัญหานี้ขึ้นพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนโดยตรง

รัฐมนตรี ชาฮิดัน ได้โพสต์ภาพถ่ายลงในเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่าเป็นภาพของเรือยามฝั่งจีนที่จอดทอดสมออยู่บริเวณเกาะปะการังลูโคเนีย (Luconia Shoals) ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะบอร์เนียวไปทางเหนือประมาณ 150 กิโลเมตร

ชาฮิดันชี้ว่า เกาะปะการังแห่งนี้อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของมาเลเซีย และห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 2,000 กิโลเมตร ดังนั้นเรือต่างชาติที่แล่นเข้าไปในน่านน้ำบริเวณดังกล่าวจึงถือว่าเป็น “ผู้บุกรุก”

“น่านน้ำบริเวณนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน เราจึงจำเป็นต้องตอบโต้ด้วยมาตรการทางการทูต” รายงานซึ่งอ้างคำพูดของชาฮิดันระบุ

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ยังไม่สามารถติดต่อขอสัมภาษณ์ชาฮิดันเพิ่มเติมได้

ที่ผ่านมา รัฐบาลเสือเหลืองมักจะใช้วิธีนุ่มนวลกับจีนในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ตรงกันข้ามกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ารับไม่ได้กับการแผ่อิทธิพลแบบล่วงล้ำก้ำเกินของจีน

อย่างไรก็ตาม นักการทูตอาวุโสหลายคนเผยกับรอยเตอร์ว่า การที่จีนจัดการซ้อมรบทางทะเลถึง 2 ครั้งติดๆ กันบริเวณเกาะปะการังเจมส์ (James Shoal) ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย ทำให้รัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ต้องเปลี่ยนมาใช้ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในปีที่แล้ว

เมื่อไม่นานนี้ ปักกิ่งก็ได้ทำการถมทะเลสร้างเกาะเทียมซึ่งมีทั้งอ่าวจอดเรือและรันเวย์สำหรับเครื่องบินขึ้น-ลงบริเวณน่านน้ำพิพาท เรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากบรรดาเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และไต้หวัน ต่างอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำบางส่วนของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สำคัญและยังรุ่มรวยด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของน่านน้ำ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยยึดแผนที่ที่นานาชาติไม่ให้การยอมรับ

แม้สหรัฐฯ จะประกาศจุดยืนเป็นกลางในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ แต่ก็ยืนยันจะปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือสินค้าผ่านน่านน้ำสำคัญบริเวณนี้

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น