ชาวพุทธหัวรุนแรงที่มีพระสงฆ์ให้การสนับสนุน จัดชุมนุมประท้วงในรัฐยะไข่ของพม่าในวันนี้ (14) ต่อต้านการมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้อพยพสิ้นหวังที่พบลอยเรืออยู่ในอ่าวเบงกอล
รัฐยะไข่ หนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของพม่า เป็นพื้นที่ตึงเครียดระหว่างชาวพุทธส่วนใหญ่ และชาวมุสลิมโรฮิงญาชนกลุ่มน้อย ซึ่งหลายคนอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นหลังเกิดเหตุความรุนแรงนองเลือดปะทุขึ้นในปี 2555
ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนได้หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมกับผู้อพยพทางเศรษฐกิจจากบังกลาเทศที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
การอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมากเช่นนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจ จนกระทั่งการปราบปรามการค้ามนุษย์ในไทยเมื่อเดือนก่อน ก่อให้เกิดความโกลาหลที่บรรดาขบวนการค้ามนุษย์ทิ้งเหยื่อของตัวเองทั้งบนบก และในทะเล
ตั้งแต่นั้นมีผู้อพยพชาวโรฮิงญา และบังกลาเทศราว 4,500 คน ได้ขึ้นฝั่งประเทศในภูมิภาค ขณะที่สหประชาชาติประเมินว่า ยังมีผู้อพยพอีกประมาณ 2,000 คน ยังคงติดค้างอยู่กลางทะเล
หลังจากตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของต่างชาติ กองทัพเรือพม่าได้ช่วยเหลือผู้อพยพมากกว่า 900 คน ซึ่งถูกนำตัวมายังรัฐยะไข่ จากจำนวนดังกล่าวมีผู้อพยพ 150 คน ได้ถูกส่งตัวกลับบังกลาเทศ แต่ผู้อพยพที่เหลือยังคงถูกควบคุมตัวในค่ายริมชายแดนขณะที่ทางการบังกลาเทศ และพม่าพิจารณาแหล่งกำเนิดของผู้อพยพเหล่านี้
การช่วยเหลือผู้อพยพสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวพุทธหัวรุนแรงที่ต้องการให้ชาวโรฮิงญาออกไปจากพม่าทั้งหมด และระบุว่า รัฐบาลกลางไม่ควรช่วยเหลือคนที่ยังติดอยู่ในอ่าวเบงกอลด้วย
ประชาชนราว 500 คน ที่ได้รับการสนับสนุนจากพระสงฆ์หลายสิบรูป รวมตัวกันท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในวันนี้ (14) ในเมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ พร้อมกับร้องตะโกนคำประท้วง ตามการระบุของผู้เห็นเหตุการณ์ที่กล่าวต่อเอเอฟพีผ่านทางโทรศัพท์
จำนวนผู้ชุมนุมได้รับการยืนยันจากแกนนำการประท้วงที่ระบุว่า การชุมนุมจะเกิดขึ้นพร้อมกันใน 10 เมืองทั่วรัฐ
อ่อง ไต แกนนำการชุมนุมประท้วงในเมืองสิตตเว กล่าวว่า การชุมนุมมีขึ้นเพื่อประท้วงต่อต้านชาวเบงกาลีที่ถูกส่งมายังรัฐยะไข่
ชาวพม่าส่วนใหญ่ รวมทั้งรัฐบาลใช้คำว่าเบงกาลีเพื่อกล่าวถึงชาวโรฮิงญา ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่จากประมาณ 1.3 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพม่าถูกปฏิเสธความเป็นพลเมือง และเผชิญต่อข้อจำกัดต่างๆ มากมายที่ควบคุมความเคลื่อนไหว ขนาดครอบครัว และการหางาน
ในเมืองหม่องดอ เมืองที่อยู่ใกล้ที่สุดกับสถานที่ที่ผู้อพยพที่ได้รับการช่วยเหลือถูกควบคุมตัวไว้ ติน หม่อง ธัน ผู้จัดการชุมนุมระบุว่าคาดว่า จะมีผู้คนราว 200 คนออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านเบงกาลี
ใบปลิวประชาสัมพันธ์แผนชุมนุมประท้วงที่เอเอฟพีเห็นยังเรียกร้องให้ประชาชนปกป้องอนาคตของรัฐยะไข่ และยังกล่าวถึงผู้อพยพด้วยการใช้คำว่า “คาลาร์” (kalar) ซึ่งเป็นคำภาษาพม่าที่มีความหมายเหยียดหยาม
ความรู้สึกต่อต้านมุสลิมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วพม่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ด้วยพระสงฆ์หัวรุนแรงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จุดชนวนความตึงเครียดทางศาสนาด้วยคำกล่าวเตือนรุนแรงว่าพุทธศาสนาตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากอิสลาม
ทั้งรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านไม่ได้แสดงความสนใจที่จะเผชิญหน้าต่อความตึงเครียดที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องด้วยเกรงว่าจะสร้างความแตกแยกในหมู่ผู้ลงคะแนนเสียงชาวพุทธก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี