รัฐบาลฮังการีประกาศแผนก่อสร้างกำแพงสูง 4 เมตรตลอดแนวพรมแดนฝั่งที่ติดกับเซอร์เบีย เพื่อป้องกันผู้อพยพหนีเข้าประเทศ วานนี้ (17) ขณะที่ยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตคลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาแสวงหาโอกาสและการตั้งต้นชีวิตใหม่
นายกรัฐมนตรี อเล็กซานดาร์ วูซิช แห่งเซอร์เบีย ยอมรับว่า “ประหลาดใจและช็อก” กับแผนสกัดผู้อพยพของฮังการี พร้อมระบุว่า “จะหารือเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายฮังการีอีกครั้ง”
“การสร้างกำแพงไม่ใช่ทางออกของปัญหา รัฐบาลเซอร์เบียไม่สามารถรับผิดชอบสถานการณ์ที่ผู้อพยพเหล่านั้นก่อขึ้นได้ เพราะเราเป็นแค่ประเทศทางผ่าน พวกคุณคิดว่าเซอร์เบียเป็นต้นเหตุสงครามในซีเรียหรืออย่างไร” วูซิช ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์
ประกาศของรัฐบาลฮังการีมีขึ้น ในขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงออกมาตำหนิทุกประเทศที่ “ปิดประตู” ไม่ต้อนรับผู้คนที่หลบหนีภัยสงคราม ความยากจน และการกดขี่ข่มเหง
ปีเตอร์ ซิจาร์โต รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฮังการี ระบุว่า รัฐบาลมีคำสั่งให้เริ่มก่อสร้างกำแพงตลอดแนวพรมแดน 175 กิโลเมตรที่ติดต่อกับเซอร์เบียแล้ว
“การเตรียมงานก่อสร้างน่าจะเสร็จภายในวันพุธหน้า” เขากล่าว
“สิ่งที่เราทำไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับใด มีอีกหลายประเทศที่แก้ปัญหาแบบเดียวกับเรา” ซิจาร์โต กล่าว โดยยกตัวอย่างกำแพงกั้นพรมแดนกรีซ-ตุรกี, บัลแกเรีย-ตุรกี และรอบดินแดนของสเปนในโมร็อกโก
ปีที่แล้ว ฮังการีเป็นประเทศที่รองรับผู้อพยพต่อหัวประชากรมากยิ่งกว่าชาติใดในสหภาพยุโรป ยกเว้นสวีเดน โดยมีผู้อพยพไหลเข้าถึง 43,000 คน
รัฐบาลบูดาเปสต์เผยด้วยว่า ปีนี้มีผู้อพยพเดินทางเข้าฮังการีแล้วถึง 54,000 คน เพิ่มขึ้นจากสถิติ 2,000 คนในปี 2012 จนน่าตกใจ
ในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป ฮังการีอยู่ในกลุ่มประเทศที่ให้สัตยาบันต่อความตกลงเชงเกนซึ่งว่าด้วยการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง ดังนั้น ผู้อพยพที่เข้าฮังการีได้แล้วจะสามารถเดินทางต่อไปยัง 26 ประเทศในยุโรปได้อย่างง่ายดาย
ร้อยละ 95 ของผู้อพยพที่เดินทางเข้าฮังการีในปีนี้ใช้เส้นทางผ่านเซอร์เบีย ซึ่งยังไม่เป็นสมาชิกอียู
นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี ได้แสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านผู้อพยพ และยังจัดพิมพ์โปสเตอร์ที่มีสโลแกนข่มขู่ผู้อพยพ เช่น “ถ้าเข้ามาฮังการี คุณจะไม่มีสิทธิ์แย่งงานของชาวฮังการี” ซึ่งทำให้เขาถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นพวกหวาดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia)
ข้อมูลจาก Frontex ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดการพรมแดนของสหภาพยุโรป ระบุว่า ปีนี้มีผู้อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าไปยังยุโรปแล้วกว่า 100,000 คน โดยราว 60,000 คนใช้คาบสมุทรอิตาลีเป็นทางผ่าน