เจ้าหน้าที่ตำรวจสโลวาเกีย เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (20) ว่าได้เข้าทำการควบคุมตัวกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนอย่างน้อย 60 ราย ที่เข้าร่วมการเดินขบวนแสดงพลังครั้งใหญ่ในกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของประเทศ เพื่อต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมืองตามนโยบายของทางสหภาพยุโรป (European Union : EU) โดยผู้ประท้วงบางส่วนถือป้ายต่อต้านมัสยิด
รายงานข่าวระบุว่า การจัดเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของสโลวาเกียในวันเสาร์ ( 20) ถูกจัดขึ้นผ่านการนัดหมายที่กระทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง “ เฟซบุ๊ก”
ทางกลุ่มผู้จัดให้มีการเดินขบวนในกรุงบราติสลาวา เพื่อต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมือง ตามนโยบายของทางสหภาพยุโรปนั้น อ้างว่า มีผู้เดินทางเข้ามาร่วมเดินขบวนในครั้งนี้เป็นจำนวนหลายพันคน และว่า นี่ถือเป็นการพลังอันบริสุทธิ์ของประชาชนชาวสโลวาเกียที่เป็น “เจ้าของประเทศ” ตัวจริงเสียงจริงว่า ไม่ต้องการรับผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาและภูมิภาคตะวันออกกลางเหล่านี้ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศของตน
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสโลวาเกียได้แสดงจุดยืนทางการทูตที่ชัดเจน ในการต่อต้านแผนการจัดสรรโควต้าเชิงบังคับของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้บรรดาประเทศสมาชิกอียู ต้องจำใจอ้าแขนรับผู้อพยพเหล่านี้เข้าประเทศ ตามเกณฑ์ของสภาพเศรษฐกิจและจำนวนประชากร
หากคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าวของอียูแล้ว คาดว่า สโลวาเกียซึ่งเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.2004 และมีประชากรราว 5.5 ล้านคนในเวลานี้ จะต้องยอมรับผู้อพยพทางเรือ จากแอฟริกาและตะวันออกกลางเข้าประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้นเพียง “785 ราย” จากจำนวนผู้อพยพที่มีมากกว่า 40,000 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น “ชาวมุสลิม”ที่ปักหลักรออยู่ในค่ายพักชั่วคราวทั้งในประเทศอิตาลีและกรีซในตอนนี้
นอกเหนือจากสโลวาเกียแล้ว มีรายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมว่า รัฐบาลของประเทศสมาชิกอียูอีกหลายชาติต่างแสดงจุดยืนคัดค้านแผนรับผู้อพยพเข้าเมืองครั้งนี้ของอียูด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของฝรั่งเศส โปแลนด์ และฮังการี
ขณะที่ประเทศอย่างอิตาลีและกรีซที่ต้องแบกรับปัญหาการไหลทะลักของผู้อพยพอยู่เพียงลำพังในขณะนี้ ต่างต้องการให้สมาชิกอื่นๆของสหภาพยุโรปเร่งเข้ามาแบ่งเบาภาระของตน ในการดูแลผู้อพยพที่มีจำนวนเรือนหมื่น ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในสโลวาเกียที่มีการจัดเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านการรับผู้อพยพเข้าเมือง ตามนโยบายของสหภาพยุโรปครั้งนี้ถูกจัดขึ้นก่อนที่จะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป หรือการประชุม “อียู ซัมมิต” ในสัปดาห์หน้าที่กรุงบรัสเซลส์ในระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายนนี้
บรรดานักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีทางการทูตต่างให้ความเห็นว่า ประเด็นปัญหาเรื่องวิกฤตผู้อพยพทางเรือที่หลั่งไหลเข้าสู่แผ่นดินยุโรป และการจัดสรรโควตาเชิงบังคับเพื่อรับผู้อพยพเหล่านี้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในหมู่ประเทศสมาชิกอียู จะกลายเป็น “ประเด็นร้อน” ที่จะทำให้การประชุมอียู ซัมมิตที่เมืองหลวงของเบลเยียมคราวนี้ดำเนินไปอย่างตึงเครียดและเผ็ดร้อนได้ไม่แพ้ประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซ