สธ.หารือ รพ.เอกชนช่วยประสานเอเยนซี นำเข้าผู้ป่วยตะวันออกกลาง เช็กโรคเมอร์สก่อนมารักษาตัวในไทย 1 สัปดาห์ พร้อมถกกองทัพหาพื้นที่สำรองกักตัวผู้สัมผัส “ผู้ป่วยเมอร์ส” เฝ้าะรัวงอาการ หากพบผู้ป่วยหลายราย ด้านรองปลัด สธ.ขออย่าปฏิเสธผู้ป่วย ให้ซักประวัติ ด้านอาการผู้ป่วยเมอร์สดีขึ้น
วันนี้ (22 มิ.ย.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่า ขณะนี้ยังคงมีผู้ป่วยโรคเมอร์สในไทยเพียง 1 ราย ส่วนผู้สัมผัสโรคลดลงจาก 176 ราย เหลือ 163 ราย เนื่องจากออกนอกประเทศไปแล้ว 13 ราย สำหรับผู้ป่วยเมอร์สชาวโอมานอายุ 75 ปี อาการดีขึ้น ส่วนจะยืนยันหายป่วยเมื่อไรนั้น ผู้ป่วยต้องไม่มีไข้ ไอ หอบ จากนั้นจึงตรวจหาเชื้อยืนยันอีก 2 ครั้ง หากผลเป็นลบถือว่าผู้ป่วยปลอดเชื้อ ส่วนจะเก็บเชื้อตรวจเมื่อไรอยู่ที่แพทย์ผู้รักษา ขณะที่ญาติอีก 3 คนมีการตรวจเชื้อไปแล้วพบว่าเป็นลบ แต่ตามระบบจะต้องติดตามและเฝ้าระวังไปอีกจนครบ 14 วัน นับตั้งแต่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้ายคือ วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“กลุ่มผู้สัมผัสโรคที่ได้มีการติดตามยังไม่มีใครป่วย ทั้งผู้โดยสารบนเครื่องบินที่อยู่สองแถวหน้าและหลังผู้ป่วย บุคลากร รพ.เอกชน คนขับแท็กซี่ ยังไม่พบอาการไข้หรืออาการบ่งชี้เข้าข่าย แต่จะติดตามไปจนครบกำหนดเช่นกัน ส่วนผู้ที่อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรค พบว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงมีการส่งตรวจเชื้อ 9 ราย ซึ่งทั้งหมดให้ผลเป็นลบ สรุปรวมตั้งแต่ต้นปี 2558 มีผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 53 ราย ทุกรายผลการตรวจเป็นลบ” รองปลัด สธ. กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวว่า จากการที่ผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในไทยอาการดีขึ้น อาจเป็นการดึงผู้ป่วยต่างชาติให้เดินทางมารักษาที่ รพ.เอกชนมากขึ้น จึงจะประสานไปยัง รพ.เอกชนให้เข้มงวดคัดกรองผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องมีจุดคัดกรอง และวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน เพราะกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาในไทยมีจำนวนมาก คิดเป็นการรับบริการถึงปีละ 1.4 ล้านครั้ง จึงต้องมีการหารือร่วมกันว่าจะร่วมกันทำงานอย่างไร ซึ่งจะเน้นขอความร่วมมือเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมการกรณีเกิดผู้ป่วยเมอร์สเพิ่มด้วย เพราะอัตราผู้ป่วยกับเมอร์สกับผู้สัมผัสโรคที่ต้องติดตามอาการอยู่ที่ 1 ต่อ 50 ราย ซึ่งหากมีผู้ป่วยเมอร์สประมาณ 1-2 ราย โรงพยาบาลสังกัด สธ.มีศักยภาพดูแล จึงจะมีการหารือร่วมกับกองทัพ ในการหาพื้นที่สำรองเพื่อการติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรค หากเกิดกรณีมีผู้ป่วยเมอร์สหลายราย เพราะเตรียมพร้อมมากดีกว่าน้อย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หลักการเฝ้าระวังผู้ป่วยจะต้องดูแลและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายในช่วง 7 วันแรก ซึ่งเป็นช่วงเสี่ยงในการแพร่โรค แต่ไทยผ่านพ้นมาแล้ว ถือว่าควบคุมได้ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่ไม่ใช่ว่าจะประมาท ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังและติดตามทั้งผู้ป่วยและญาติทั้งหมด 4 ราย ไปจนครบ 14 วัน หรือประมาณวันที่ 2 ก.ค. หากไม่มีไข้ อาการดีขึ้น แพทย์ก็จะพิจารณาอีกครั้ง
นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คร. กล่าวว่า สธ.ได้มีการหารือกับ รพ.เอกชนต่างๆ ว่าต่อไปจะให้ รพ.เอกชนประสานกับเอเยนซี ที่จะมีการนำผู้ป่วยมารักษาโรคต่างๆ ในไทย โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคเมอร์ส ให้ทำการตรวจหาโรคเมอร์สผู้ที่จะมารักษาโรคต่างๆ ในไทยก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนส่งมารักษาในไทย ซึ่งกรณีนี้ รพ.เอกชนก็เห็นด้วย ส่วนผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านเอเยนซี ก็จะให้ รพ.เอกชนสอบถามประวัติ หากมาจากประเทศตะวันออกกลางให้ส่งสารคัดหลั่งตรวจหาเชื้อทุกราย เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่เชื้อ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี รพ.เอกชนบางแห่งปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่มาจากประเทศที่มีการระบาด นพ.วชิระ กล่าวว่า คงต้องตรวจสอบ แต่เชื่อว่าอาจเป็นช่วงแรกๆ ซึ่งขณะนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ประสานขอความร่วมมือกับรพ.เอกชนต่างๆ แล้วว่า หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย ให้โทร.สอบถามได้ที่สายด่วน 1422 หรือหากไม่มีห้องแยกให้แจ้งทาง สธ. จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับต่อเพื่อเข้าสู่ระบบการติดตามเฝ้าระวังทันที อย่าให้ผู้ป่วยเดินทางไปด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วย 1,338 ราย เสียชีวิต 475 ราย เฉพาะเกาหลีใต้พบผู้ป่วย 169 ราย เสียชีวิต 25 ราย