เล็งเปิดศูนย์วิทย์ 9 ด้าน สร้างนักวิจัยร่วม 4 พันคน ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ

เล็งเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทย์-เทคโนโลยีเพิ่มอีก 9 ด้าน จากเดิมที่มี 11 ด้าน หลัง ครม.ไฟเขียวโครงการพัฒนาระยะ 3 หวังสร้างนักวิจัยกว่า 4,000 ชีวิต ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

วันนี้ (24) รศ.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) มีด้วยกันทั้งหมด 11 ศูนย์ มีสถาบันอุดมศึกษาหรือวิจัย เข้าร่วมจำนวน 23 สถาบัน ซึ่งหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2557 ในเรื่องแผนพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะที่ 3 (2559-2563) ได้มีการเตรียมพร้อมตั้งศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคดนโลยีเพิ่มขึ้นอีก 9 ศูนย์ คือ 1.ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.ด้านพิบัติภัย 3.ด้านการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรทางน้ำ 4.ด้านเทคโนโลยีทางอาหาร 5.ด้านเทคโนโลยีออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ 6.ด้านเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม 7.ด้านเทคโนโลยีระบบราง 8.ด้านเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ และ 9.ด้านเทคโนโลยีนำกลับมาใช้

รศ.พินิต กล่าวว่า โครงการพัฒนาฯ ระยะที่ 3 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะผลิตนักวิจัยระดับต่างๆ คือ นักวิจัยระดับอาวุโสและผู้นำการวิจัย จำนวน 405 คน นักวิจัยระดับปริญญาเอก จำนวน 1,290 คน และนักวิจัยระดับปริญญาโท จำนวน 2,620 คน โดยมีเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 220 โปรแกรมวิจัย ประกอบด้วย 1,100 โครงการวิจัย เพื่อผลิตทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 125 ชิ้นงาน ผลิตภัณฑ์ใหม่และเทคโนโลยี จำนวน 110 ชิ้นงาน และดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกิจการต่างๆ 1,185 โครงการ และองค์ความรู้ จำนวน 4,300 ชิ้นงาน นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ยังมีพันธกิจเพิ่มในการพัฒนาครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์โดยการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 750 คน ซึ่งเดิมมีจำนวนที่อยู่ในสภาวะวิกฤต

“ในการสร้างอนาคตของชาติทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น การพัฒนานักวิจัยระดับสูงเพื่อไปผลิตผลงานวิจัยตอบโจทย์ของประเทศเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่ง การสร้างหรือผลิตนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถระดับสูง มีทักษะด้านการวิจัย มีความรอบรู้เท่าทันโลก และมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ถือเป็นประเด็นเชิงคุณภาพของนักวิจัยที่สำคัญพอๆ กับเรื่องจำนวนนักวิจัยที่ควรมีจำนวนมากพอ” เลขาธิการ กกอ. กล่าว

อนึ่ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้ง 11 ศูนย์ ประกอบด้วย 1.ด้านนวัตกรรมทางเคมี 2.ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา 3.ด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย 4.ด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ 5.ด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม 6.ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร 7.ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว 8.ด้านคณิตศาสตร์ 9.ด้านฟิสิกส์ 10.ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และ 11.ด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น