“ดับฝันซูจี” สภาพม่ามีมติไม่ผ่านกฎหมายให้นั่ง ปธน.

รัฐสภาพม่าวันพฤหัสบดีที่ (25) ผ่านมาได้ดับความหวังของอองซานซูจี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดขวางเธอจากตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ด้วยมีมติไม่ผ่านร่างกฎหมายที่จะยุติอำนาจของทหารในการยับยั้งการแก้ไขกฎหมาย

หลังอภิปรายนาน 3 วัน ระหว่างสมาชิกรัฐสภาที่เป็นนายทหาร และสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ผลการลงคะแนนเสียงของรัฐสภามีมติไม่ผ่านร่างแก้ไขที่จะลดทอนการครองอำนาจทางการเมืองของกองทัพ

รัฐสภาพม่า ยังคงถูกกองทัพทหาร และอดีตนายพลครอบครอง แม้ว่าพม่าจะดำเนินการปฏิรูปนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 ก็ตาม

ผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่า กองทัพที่ปราบปรามผู้เห็นต่าง และยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในช่วงที่ปกครองประเทศ ออกเสียงคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อการลดทอนอำนาจใดๆ ก็ตามของทหาร

ฉ่วย มาน ประธานสภาประกาศผลต่อบรรดาสมาชิกสภาว่า ร่างแก้ไขมาตรา 436 ไม่ผ่านสภา หลังสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบเพียง 388 เสียง หรือประมาณ 60% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 75% ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การแก้ไขมาตรา 436 ถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นๆ

ผลที่ออกมาถือเป็นการตัดโอกาสการเป็นประธานาธิบดีของซูจี เพราะรัฐธรรมนูญระบุห้ามผู้ที่มีบุตรเป็นชาวต่างชาติทำหน้าที่ผู้นำประเทศ

แต่ซูจี ได้กล่าวเรียกร้องต่อประชาชนชาวพม่าไม่ให้สิ้นหวัง แม้ล้มเหลวที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้คำมั่นว่า ฝ่ายค้านจะไม่อ่อนข้อต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. หรือ พ.ย. นี้

“ตั้งแต่นี้ไปเราจะมุ่งไปที่การเลือกตั้ง” ซูจี กล่าวต่อผู้สื่อข่าว

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ นับเป็นการเลือกตั้งแห่งชาติครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีเข้ามีส่วนร่วม และเป็นที่คาดการณ์ว่า พรรคจะกวาดที่นั่งในรัฐสภา หากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

แต่เนื่องจากซูจี ถูกห้ามจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี และยังไม่มีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งลำดับที่ 2 จากภายในพรรค ผู้สังเกตการณ์คาดการณ์ว่า พรรค NLD อาจจะลงท้ายด้วยการสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากนอกพรรค

ผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่า กองทัพติดกับบทบาทที่เข้าใจไปเองว่ามีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ร่างขึ้นภายใต้การปกครองของอดีตรัฐบาลทหารซึ่งควบคุมตัวซูจีไว้นาน 15 ปี

มาตราที่ขัดขวางซูจีจากเส้นทางไปสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ไม่ได้นำขึ้นอภิปรายในรัฐสภา แต่อภิปรายข้อเสนอแก้ไขมาตราที่ 436 จากเดิมที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องการเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา 75% ลดลงเหลือเพียง 70% ซึ่งสมาชิกรัฐสภาที่เป็นนายทหารต่างคัดค้านข้อเสนอนี้

แม้จะมีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าร่างกฎหมายจะไม่ผ่านสภา แต่บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติก็อยู่ในสภาพเงียบงันเมื่อผลถูกประกาศออกมาว่าข้อเสนอแก้ไขกฎหมายอีกหลายมาตราไม่ผ่าน ซึ่งสมาชิกสภาอาวุโสของพรรค NLD หลายคนแสดงอาการผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด

นายพลจัตวา ติน ซาน หน่าย กล่าวต่อผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอมานั้นยังไม่สมควรเพราะประชาธิปไตยของพม่ายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น