คลื่นความร้อนในปากีฯคลี่คลายแล้ว ยอดสูงอยู่ที่ 1,150 ศพ

ลมทะเลพัดพาอุณหภูมิในการาจีลดต่ำลงในวันศุกร์(26มิ.ย.) ช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากคลื่นความร้อน ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วเมืองท่าของปากีสถานแห่งนี้ระหว่างเทศกาลถือศีลอีดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ไปมากกว่า 1,150 ศพ

อันวาร์ คาซมี โฆษกของเอธี เวลแฟร์ องค์กรการกุศลใหญ่ที่สุดของปากีสถานบอกว่า “จนถึงวันศุกร์ มีผู้เสียชีวิตตามโรงพยาบาลต่างๆของรัฐอย่างน้อย 1,150 ศพ”

ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัดสูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียส ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 แต่ประชาชนกลับต้องเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง จึงกระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดต่อแนวทางการรับมือกับวิกฤตการณ์คราวนี้ของรัฐบาลในเมืองที่มีประชากร 20 ล้านคน

ปัญหาไฟฟ้าดับส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถใช้พัดลม ไม่มีน้ำใช้หรือแสงสว่างในช่วงเริ่มต้นของเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมจะไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า

อย่างไรก็ตามดอคเตอร์ โมฮัมหมัด ฮารีฟ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์อากาศแห่งชาติเผยว่าในวันศุกร์(26มิ.ย.) อุณหภูมิสูงสุดลดลงมาเหลือราวๆ 36 องศาเซลเซียส หลังจากต้องเผชิญกับอุณหภูมิร้อนระอุสูงสุดราว 44-45 องศาเซลเซียสมาตั้งแต่วันเสาร์ (20 มิ.ย.)

ในวันศุกร์(26มิ.ย.) จำเป็นต้องมีการประกอบพิธีศพเหยื่อที่ไม่สามารถระบุตัวตน 50 ศพ ก่อนดำเนินการฝังศพเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน หลังจากประสบปัญหาร่างผู้เสียชีวิตล้นโรงเก็บศพ “เรารอมา 3 วันแล้วสำหรับญาติๆที่จะมาอ้างสิทธิ์ และตอนนี้เราต้องฝังศพ 50 ศพ” เจ้าหน้าที่ขององค์กรการกุศลเอธี เวลแฟร์เผย พร้อมเชื่อว่าเหยื่อบางคนน่าจะเป็นคนเร่ร่อน “ก่อนที่เราจะฝัง เราถ่ายภาพศพและติดป้ายหมายเลขในกรณีอาจมีญาติมาอ้างสิทธิ์ในภายหลัง และเพื่อให้เราระบุตัวตนศพได้”

วิกฤตคราวนี้ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากคลื่นความร้อนลูกหนึ่งปกคลุมอินเดียเมื่อเดือนก่อน คร่าชีวิตชาวบ้าน 2,500 ศพ เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของประเทศกำลังพัฒนาหลายชาติในการรับมือกับสภาพอากาศรุนแรง ที่เหล่านักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะมาพร้อมกับๆภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ในอีกไม่กี่ทศวรษข้างหน้า

เหล่าพรรคการเมืองระดับชาติหรือแม้แต่ระดับท้องถิ่นของปากีสถาน มัวแต่กล่าวโทษกันไปมาต่อวิกฤตคราวนี้ ทำให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากฝ่ายทหารและองค์กรการกุศลต่างๆอย่างเช่นเอธี เวลแฟร์

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น