ที่ประชุม กก.รถไฟไทย-จีนคาดออกแบบแนวเส้นทางแล้วเสร็จไม่เกิน 21 ส.ค.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 5 ว่า การประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบ โดยฝ่ายจีนได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมของโครงการสำรวจและออกแบบแนวเส้นทาง แผนการวางระบบสื่อสารด้วยไฟเบอร์ออฟติค และแผนการฝึกอบรมบุคลากร ในส่วนของไทย ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ของโครงการ ทั้งนี้ คาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะสรุปจำนวนสถานี และสัดส่วนแนวเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่เพื่อใช้ในการออกแบบเส้นทางรถไฟ ช่วงที่1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา โดยตั้งเป้าว่าการออกแบบแนวเส้นทางรถไฟจะแล้วเสร็จไม่เกิน 21 สิงหาคมนี้

นอกจากนี้ ในส่วนของข้อตกลงกรอบการทำงานนั้นรายละเอียดยังไม่ชัดเจน ในส่วนของกรอบแผนงานและยังไม่สอดคล้องกับการศึกษาที่ไทยได้เสนอทำบันทึกความร่วมมือไว้ดังนั้นจึงต้องทำการศึกษาและกำหนดรายละเอียดกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 28 สิงหาคมนี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติประมาณกลางเดือนกันยายน 2558 อย่างไรก็ตาม หากแผนการศึกษาไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะขยายระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน เป็น 21 ตุลาคม 2558 หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบในเดือนพฤศจิกายน 2558 และเริ่มก่อสร้างในเดือนธันวาคม จากเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2558

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ในวันนี้จากการประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการก่อสร้างทั้ง 3 ระยะ รวมถึงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ และการปรับปรุงหลักสูตรในสถานศึกษา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินรถและซ่อมบำรุงของเอเชียในอนาคตอีกด้วย

ส่วนแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่นั้นอาจจะต้องมีการปรับแบบเล็กน้อย เนื่องจากการสำรวจแนวเส้นทางช่วง กรุงเทพฯ-บ้านภาชี พบในส่วนของท่อก๊าซระยะทาง 30-40 กิโลเมตร

ด้านรูปแบบการลงทุนนั้น นายอาคมเติม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ไทยรับผิดชอบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนที่ 2 ไทยเสนอขอให้จีนพิจารณาในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างไทย-จีน ใน 2 ส่วน คือระบบอาณัติสัญญาณ การเดินรถและการซ่อมบำรุง ซึ่งทางฝ่ายจีนจะรับไปพิจารณาและนำกลับมาหารือในการประชุมครั้งถัดไป โดยหลักการเบื้องต้นจะเป็นการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน

ในส่วนของการเงิน ยังคงยึดหลักการเดิม คือ ใช้เงินกู้จากหลายแหล่ง โดยจีนไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นเงินสกุลหยวนเท่านั้น แต่จีนยินดีที่จะพิจารณาให้ไทยกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งรายละเอียดจะต้องหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากจะต้องรอศึกษาแนวเส้นทางให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน ซึ่งคาดว่าการสำรวจออบแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จในวันที่ 21 สิงหาคมนี้

สำหรับการประชุมความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมที่เมืองซีอาน ประเทศจีน

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น