กรีซโฆม่า ข้อมูลลับ IMF เผยรัดเข็มขัดก็เอาไม่อยู่

Süddeutsche Zeitung สื่อเยอรมันรายงานเอกสารลับ IMF ระบุ จากการประเมินของ IMF พบว่าถึงแม้กรีซยอมรับข้อเสนอมาตรการรัดเข็มขัดทั้งหมดจากกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติหรือ “ทรอยกา” แต่ทว่าจะยังไม่สามารถช่วยให้กรีซออกจากเหววิกฤตหนี้ไปได้ โดยพบว่าในปี 2030 เพดานหนี้กรีซจะยังสูงถึง 118% ของตัวเลข GDP ในปีนั้น

RT สื่อรัสเซียรายงานวันนี้(1)ว่า Süddeutsche Zeitung สื่อเยอรมันได้ตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารลับ IMF ซึ่งมีการคาดการณ์ถึงวิกฤตหนี้สินกรีซว่า จากการวิเคราะห์ทาง IMF เชื่อว่ากรีซจะยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตหนี้สิ้นที่ไม่แน่นอนต่อไปในปี 2030 โดยเพดานหนี้กรีซจะยังสูงถึง 118% ของตัวเลข GDP ในปีนั้น ถึงแม้ว่าเอเธนส์จะรับปากตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ “ทรอยกา” อันประกอบไปด้วยคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป ECB และ IMF ซึ่งมาตรการเหล่านี้รวมไปถึง มาตรการขึ้นภาษี และการตัดลดงบประมาณใช้จ่ายประเทศเพื่อแลกรับความช่วยเหลือด้านการเงินในแพคเก็จช่วยเหลือ 5 เดือนมูลค่า 15.5 พันล้านยูโร

ซึ่งจากการรายงานครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์เยอรมัน Süddeutsche Zeitung ที่เป็นผู้ได้รับเอกสาร หลังจากเอกสารลับเหล่านี้ได้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเยอรมัน และสื่ออังกฤษ เดอะการ์เดียน รายงานต่อในภาษาอังกฤษหลังจากได้เห็นเอกสารเหล่านี้ชี้ว่า การคาดการณ์เหล่านี้ระบุอยู่ในเอกสารจำนวน 6 ชุด ที่ 1 ใน 6ของเอกสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของดีลเจรจาขั้นสุดท้ายที่ทางกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยกาได้ยื่นให้กับเอเธนส์ในวันศุกร์(26มิถุนายน)ที่ผ่านมา

และการประเมินเหล่านี้ RT รายงานว่า ได้สนับสนุนการตัดสินใจของเอเธนส์ในการไม่ตอบรับข้อเสนอของบรรดาเจ้าหนี้ต่างชาติ ซึ่งพิสูจน์ว่าทางที่จะทำให้กรีซรอดพ้นจากหายนะวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่นี้ต้องมาจาก “มาตรการความช่วยเหลือผ่อนปรนหนี้อย่างจริงจัง” มากกว่าที่จะใช้ “มาตรการรัดเข็มขัด” กับกรีซ

นอกจากนี้เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษยังชี้เพิ่มเติมว่า เพราะการวิเคราะห์ของ IMF พบว่า ข้อกำหนดตัวเลขเพดานหนี้สินต่ำกว่า 110% ของตัวเลขGDP ตามที่เกณฑ์ระบุที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีการคลังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในเดือนพฤศจิกายน 2012 กำหนดนั้น กรีซจะไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะในปี 2030 กรีซจะยังคงต้องแบกรับหนี้สินถึง 118% ของตัวเลข GDP ในปีนั้นถึงแม้ทางเอเธนส์จะยอมรับข้อเสนอมาตรการรัดเข็มขัดทุกประการ

และโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน กรีซต้องแบกรับตัวเลขหนี้สินถึง 175% ของ GDP และอีกทั้งตัวเลขหนี้นี้สามารถขยับเพิ่มขึ้นได้ง่ายมาก หากสภาพเศรษฐกิจของกรีซตกไปสู่สภาพเศรษฐกิจแบบถดถอย

RT ยังรายงานต่ออีกว่า ถึงแม้เมื่อพิจารณาในสถานการณ์ที่เป็นบวกมากที่สุด ในสถานการณ์ที่เอเธนส์จะสามารถทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจรุดหน้าได้ไม่ต่ำกว่า 4% ต่อปีอย่างคงที่ในเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า โดย IMF วิเคราะห์ว่า ระดับเพดานหนี้สินของกรีซจะลดลงไปที่ 124% เท่านั้นก่อนปี 2022

“เป็นที่เห็นได้ชัดว่า นโยบายที่ถดถอยและแปรปรวนในช่วงเดือนท้ายๆส่งผลต่อความสำเร็จในเป้าหมายตามประกาศปี 2012ของคณะรัฐมนตรีการคลังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ต้องการให้เพดานหนี้กรีซต่ำกว่า 110% ของตัวเลข GDP ก่อนปี 2022 นั้นเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม” รายงานจากเอกสารลับ IMF หัวข้อหัวข้อ “The Preliminary Debt Sustainability Analysis for Greece”

และนอกจากนี้ RT ยังรายงานว่า ชุดเอกสารลับ IMF เหล่านี้ได้ถูกส่งไปยังรัฐมนตรีเยอรมันทุกคนในคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล เพื่อพิจารณาและอนุมัติ แต่ทว่ากลับไม่เคยเกิดขึ้นเนื่องจากนายกรัฐมนตรีกรีซ อเล็กซิส ซีปราส ได้ปฎิเสธเงื่อนไขทั้งหมดของเจ้าหนี้ต่างชาติ และประกาศให้ทำประชาพิจารณ์แทน

ซึ่งในเอกสารลับ IMF ยังมีการบ่งชี้ด้วยว่า หากจะสามารถช่วยกู้วิกฤตกรีซให้สำเร็จจากการปลอดหนี้สินแล้ว “จำเป็นต้องมีการถอย”

และสื่อรัสเซียยังรายงานถึงเอกสารลับ IMF อีกชิ้น ซึ่งเป็นเอกสารชิ้นที่ 3 เปิดเผยถึงรายละเอียดข้อตกลงเกี่ยวกับข้อตกลง ตัวอย่างเช่น อธิบายถึงสถานการณ์ที่จะทำให้เอเธนส์สามารถได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 15 พันล้านยูโร ซึ่งในแผนการจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนที่จะสามารถเริ่มขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนมิถุนายน และจะเร็วที่สุดตราบเท่าที่รัฐสภากรีซโหวตอนุมัติตอบรับข้อเสนอเจ้าหนี้ต่างชาติ แต่ทางกรีซต้องแลกกับการทำตามเงื่อนไขไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน

โดยตามเอกสารระบุว่า ความช่วยเหลือก้อนนี้จะสามารถบรรเทาความต้องการเม็ดเงินของกรีซอย่างเร่งด่วนได้ ซึ่งพบว่า 93% ของจำนวนเงินทั้งหมดจะนำไปจ่ายคืนให้กับหนี้สินเดิมที่ถึงกำหนดชำระ

นอกจากนี้ในเอกสารลับ IMF ยังเปิดเผยถึงการปฎิรูปต่างๆที่กรีซจำเป็นต้องทำหากยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยกา โดยทางกลุ่มเจ้าหนี้ต้องการให้มีการปฎิรูปครั้งใหญ่ในประเทศเพื่อต้องการให้กรีซสามารถมีตัวเลขเหนือเป้าหมาย 1%, 2%, 3%, และ 3.5% ของตัวเลข GDPในปี 2015, 2016, 2017 และ 2018 ตามลำดับ จาการรายงานของสื่ออังกฤษ รวมไปถึงการปรับฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ใหม่เป็น 23% ที่รวมไปถึงร้านอาหารและธุรกิจการให้บริการจัดเลี้ยง โดยทาง IMF ระบุว่าการปรับอัตรา VAT จะส่งผลถึง 1% ต่อตัวเลข GDP โดยรวม

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการเสนอลดอัตรา VAT ลงเหลือ 13% จำกัดเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐาน พลังงาน โรงแรม และอัตราการใช้น้ำ(ยกเว้นค่าใช้จ่ายสำหรับปล่อยน้ำเสีย) และอัตรา VAT 6% ในส่วนของยารักษาโรค หนังสือ และโรงละคร และโรงภาพยนตร์

เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมว่า มีการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจประกันภัย และอีกทั้งกำหนดให้ยกเลิกการไม่เก็บภาษี VAT ในบางเกาะของกรีซ ซึ่งแต่เดิมนั้น กลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติประสงค์จะให้มีระบบ VAT ของกรีซเป็นแบบ 2 ขั้นเท่านั้น

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น