มาเลเซียร้อง UN ตั้งคณะตุลาการไต่สวนหาคนผิดกรณี MH17 ถูกสอยร่วงในยูเครน

รัฐบาลมาเลเซียเรียกร้องผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวานนี้ (2) ให้ยูเอ็นตั้งคณะตุลาการไต่สวนเพื่อเอาผิดผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมเที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ และยังตกเป็น “ผู้ต้องหาหลัก” ในเรื่องนี้ เตือนว่าสิ่งที่รัฐบาลเสือเหลืองเรียกร้องยังเร็วเกินไป

เที่ยวบิน MH17 ซึ่งออกเดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัมเพื่อไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถูกขีปนาวุธยิงตกเหนือเขตอิทธิพลของกบฏฝักใฝ่รัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เป็นเหตุให้ลูกเรือและผู้โดยสาร 298 คนเสียชีวิตทั้งหมด โดยเหยื่อ 2 ใน 3 เป็นพลเมืองเนเธอร์แลนด์

รัฐบาลยูเครนและประเทศตะวันตกเชื่อว่า โบอิ้ง 777-200 ของมาเลเซียถูกกบฏโปรรัสเซียใช้ขีปนาวุธที่ผลิตในแดนหมีขาวสอยร่วงลงมาจากฟ้า ทว่ารัสเซียยืนกรานว่าไม่เคยส่งขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน SA-11 Buk ให้พวกกบฏใช้

“ผู้แทนมาเลเซียได้สรุปความตั้งใจที่จะส่งร่างมติเกี่ยวกับ MH17 ให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบเมื่อเช้านี้” เจอราร์ด ฟาน โบฮีเมน เอกอัครราชทูตผู้แทนนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ ประจำเดือนกรกฎาคม ให้สัมภาษณ์

“พวกเขาต้องการให้มีกลไกเอาผิดกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เครื่องบินตก” ฟาน โบฮีเมน กล่าว พร้อมระบุว่า นี่เป็นข้อเสนอร่วมระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และยูเครน

นักการทูตหลายคนเผยว่า รัสเซียพยายามคัดค้านเรื่องนี้ โดยอ้างว่าข้อเสนอดังกล่าวยังเร็วเกินไป และคณะมนตรีความมั่นคงฯ น่าจะรอให้กระบวนการสอบสวนอื่นๆ ได้ข้อสรุปชัดเจนเสียก่อน

ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้สอบถามไปยังคณะผู้แทนรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

ด้วยฐานะ 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ รัสเซียมีอำนาจที่จะ “วีโต” มติต่างๆ ได้เช่นเดียวกับ ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และสหรัฐฯ ซึ่งมอสโกอาจเลือกใช้วิธีนี้ขัดขวางข้อเสนอของมาเลเซียหากมีการโหวตเกิดขึ้น

เนเธอร์แลนด์ซึ่งสูญเสียพลเมืองไปมากที่สุดจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้เข้ามาเป็นผู้นำทีมสอบสวนนานาชาติ ขณะที่มาเลเซีย ออสเตรเลีย เบลเยียม และยูเครนก็มีส่วนร่วมด้วย ส่วนทางด้านของรัสเซียก็ส่งพนักงานสอบสวนเข้ามาช่วยตรวจสอบสาเหตุการตกของโบอิ้งลำนี้อีกทางหนึ่ง

“ผมคิดว่าเรื่องนี้จะคงต้องมีการปรึกษาหารืออย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน” ฟาน โบฮีเมน เผยต่อสื่อมวลชน พร้อมระบุว่า ผู้แทนมาเลเซียยังไม่ได้แจกจ่ายร่างมติให้สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ทั้ง 15 ชาติพิจารณาแต่อย่างใด

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น