ประเทศผู้บริจาคและองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ กำลังให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในการรับมือกับน้ำท่วมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 74 คน และมีประชาชนได้รับผลกระทบ 330,000 คน หลังฝนมรสุมตกหนักนานกว่าหนึ่งเดือนและอิทธิพลของพายุไซโคลนจากอ่าวเบงกอล
พะยู เล เล ตุน ผู้อำนวยการจากกระทรวงโยกย้ายถิ่นฐาน บรรเทาทุกข์ และสวัสดิการสังคม ยืนยันตัวเลขและเตือนว่า เขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิรวดี ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงที่อาจทำลายนาข้าวและบ้านเรือน เมื่อน้ำไหลบ่าลงมาตามแม่น้ำจากพื้นที่น้ำท่วมทางเหนือ
ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนในมาเลเซีย ซึ่งพม่าเป็นสมาชิก จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า วอชิงตันจะประกาศแพคเกจช่วยเหลือบรรเทาทุกข์อุทกภัยในเร็วๆ นี้ หลังปรึกษากับเจ้าหน้าที่พม่าถึงวิธีที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างดีที่สุด
แคร์รี่ กล่าวว่า สถานทูตสหรัฐฯ ได้ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของพม่า และแสดงความหวังว่าจะเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและผลกระทบน้อยที่สุด
สถานทูตจีนประกาศบนเว็บไซต์ของสถานทูตว่า ทีมกู้ภัยจีน 10 คน เดินทางถึงนครย่างกุ้งเมื่อวันอังคาร (4) โดยทีมกู้ภัยบลูสกาย ที่เป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมนอกภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดของจีน เป็นทีมกู้ภัยต่างชาติทีมแรกที่เดินทางถึงสถานที่เกิดเหตุ และจะมุ่งหน้าไปรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 พื้นที่ที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งกำหนดให้เป็นเขตภัยพิบัติ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประกาศเมื่อวันอังคาร (4) ว่า หน่วยงานกำลังสำรวจความเสียหายในรัฐยะไข่ ที่มีผู้ไร้ที่อยู่จากเหตุความขัดแย้งทางชาติพันธุ์เมื่อหลายปีก่อนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวราว 130,000 คน และรัฐยะไข่ ที่เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล ยังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของไซโคลนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
“จนถึงตอนนี้ทีมที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของ UNHCR หน่วยงานของสหประชาชาติอื่นๆ และเอ็นจีโอ สามารถเข้าถึงค่ายพักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ได้แล้ว รวมทั้งเมืองที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองป็อกตอ และเมืองมะเยบอน” UNHCR ระบุในคำแถลง
“จากการประเมินค่าย 24 แห่ง พบว่า 1 ใน 4 ของที่พักพิงชั่วคราวได้รับความเสียหาย และผู้ไร้ที่อยู่ได้รับผลกระทบมากกว่า 21,000 คน ที่พักชั่วคราวที่สร้างขึ้นมานานหลายปีในตอนนี้มีสภาพไม่แข็งแรงและไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศที่รุนแรงได้”
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนระบุว่าสถานการณ์อยู่ในภาวะอันตรายในหลายเมืองของรัฐยะไข่
“ผู้ไร้ที่อยู่กว่า 4,000 คน ในเมืองเมงเบียะต้องพักอยู่ในวัด 23 แห่ง แม้ความต้องการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งต่อบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งน้ำดื่มปนเปื้อน” องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ระบุ
ในเวลานี้ความสนใจมุ่งไปที่บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิรวดี เพราะภัยคุกคามจากน้ำที่กำลังไหลลงจากทางเหนือไปสู่เขตพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเคยประสบภัยพิบัติจากไซโคลนนาร์กิสในปี 2551 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 140,000 คน
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเมืองนองโดงที่ติดริมแม่น้ำอิรวดี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครย่างกุ้ง ระบุว่าโรงเรียนในเมืองหยุดการเรียนการสอน ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กถูกอพยพไปยังพื้นที่สูงเพราะระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น แต่เมืองยังไม่ถูกน้ำท่วม
ขอบคุณ AP/ASTV