แม่ทัพภาค 4 สร้างความเข้าใจ 9 องค์กรสิทธิฯ หารือแนวทางตรวจ DNA ในพื้นที่ จชต.

แม่ทัพภาค 4 เดินหน้าพูดคุยสร้างความเข้าใจ 9 องค์กรสิทธิมนุษยชน พร้อมหารือแนวทางและมาตรการ การเก็บ-ตรวจ DNA ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยืนยัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปฎิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย อำนวยความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย และจะไม่สร้างเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามจะใช้เป็นเงื่อนไขสู่สากล
เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (11) ที่ ห้องประชุมอาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 ได้เชิญ ตัวแทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ รวม 9 องค์กร เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อแสวงหาแนวทาง และมาตรการ การตรวจเก็บดีเอ็นเอ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพลโท นพวงศ์ สุระวิชัย แม่ทัพน้อยภาค 4 พลตำรวจโท สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจ ในฐานะผู้แทนจากศูนย์ปฎิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เข้าร่วมประชุม
d7275โดยที่ประชุม ทางกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ชี้แจงขั้นตอนการปฎิบัติและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อขจัดการตรวจบัตรประชาชน หรือ การจับกุมบนพื้นฐานของการมุ่งปฎิบัติการไปที่เชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง รวมถึงการทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษ ด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เทียบเท่ามาตรฐานระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ทางศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 ได้ชี้แจงเหตุผลในการเก็บดีเอ็นเอ และขั้นตอนในการเก็บดีเอ็นเอ ตามหลักมาตรฐานด้วย และสำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน ชี้แจงมาตรการที่บังคับใช้ เพื่อติดตามตรวจสอบผลการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมาตรการที่จะปกป้องคุ้มครองให้ภาคประชาสังคมไม่ถูกข่มขู่หรือคุกคาม และมาตรการที่จะใช้สอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ พลโท ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 กล่าวว่า ในการพูดคุยร่วมกันครั้งนี้เพื่อที่จะร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำความสันติสุขกลับคืนมาแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประเด็นที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ มีความประสงค์ที่จะขอเข้าพบเพื่อหารือแสวงหาแนวทางและมาตรการในการตรวจเก็บดีเอ็นเอ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหา ในการพบกันเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในพื้นที่และองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่เป็นเสียงสะท้อนมาจากคนในพื้นที่ โดยในส่วนของการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ภายใต้การอำนวยการ ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะปฎิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนด อำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่าย และจะไม่สร้างเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามจะใช้เป็นเงื่อนไขสู่สากล
ขอบคุณ กรมประชาสัมพันธ์

ความคิดเห็น

comments