ยูเอ็นชี้ โลกต้องทุ่มเงินปีละ “9.5 ล้านล้าน” แก้ปัญหาความอดอยากของโลก

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุประชาคมโลกจำเป็นต้องใช้เงินอีกมากกว่า 267,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.5 ล้านล้านบาท) ต่อปี หากหวังจะขจัดความอดอยากหิวโหยให้หมดสิ้นไปจากโลกภายในปี ค.ศ. 2030

รายงานล่าสุดของยูเอ็นซึ่งใช้ชื่อว่า “Achieving Zero Hunger” และมีการเผยแพร่ที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ในวันเสาร์ (22 ส.ค.) ระบุ หากประชาคมโลกต้องการแก้ปัญหาความอดอยากให้หมดสิ้นไปจะต้องมีการอัดฉีดเม็ดเงินสำหรับใช้แก้ปัญหานี้อีกมากกว่า 267,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.5 ล้านล้านบาท) ต่อปี และจะต้องรอจนถึงปี 2030 หรือในอีก 15 ปีนับจากนี้ ปัญหาความอดอยากของประชากรโลกจึงจะหมดสิ้นไป

รายงานของยูเอ็นระบุว่า เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบในโครงการ หรือนโยบายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในระดับที่ยากจนสุดขั้ว ทั้งที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่และเขตชนบท

ด้านกราเซียโน ดา ซิลวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ออกมาเปิดเผยว่า ในความเป็นจริงแล้วเงินจำนวนดังกล่าวมีสัดส่วนประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลกเท่านั้น

รายงานฉบับล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า ประชาคมโลกได้เดินมาถูกทางแล้วในการแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรโลก เห็นได้จากจำนวนคนยากจนทั่วโลกที่มีรายได้ “ต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน” ในปี 2015 นี้ได้ลดจำนวนลงเหลือ 836 ล้านคนแล้ว จากที่เคยมีมากถึง 1,900 ล้านคนเมื่อช่วงทศวรรษ 1990 และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้จะมีประชากรโลกอีกอย่างน้อย 175 ล้านคนที่จะหลุดพ้นจากการ “ติดกับดักความยากจน”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานฉบับล่าสุดของยูเอ็นชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังคงเป็นบ้านของผู้คนที่อดอยากหิวโหยกว่า 490 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของผู้อดอยากหิวโหยทั่วโลกที่คาดว่าจะมีจำนวนราว 730 ล้านคน

ขอบคุณ ASTV

ความคิดเห็น

comments