พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โลกยุคดิจิทัลขณะนี้ ประชาชนใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน จนก่อให้เกิดอาการใหม่ทางสุขภาพจิตที่เรียกว่า “โนโมโฟเบีย (nomophobia)” มาจากคำว่า โนโมบายโฟนโฟเบีย (no mobile phone phobia) หรืออาการขาดมือถือไม่ได้ จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวล
ขณะที่พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น นิ้วล็อกสายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็งและปวดเมื่อย จากการก้มหน้าเพ่งจอเป็นเวลานานและทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอถูกกดทับ เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินโคลงเคลงเหมือนจะล้มอาจเกิดโรคอ้วนได้ง่ายจากการนั่งอยู่กับที่นานๆ
ทั้งนี้ ในการการป้องกันโรคนี้ต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือควรใช้เท่าที่จำเป็นทำกิจกรรมอื่นทดแทน ผลสำรวจทั่วโลกพบว่า คนที่เกิดอาการโนโมโฟเบีย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมากกว่าวัยทำงานเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเล่นเกม ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรมมากมาย จึงส่งข้อมูลผ่านมือถือถึงกันบ่อย ๆ สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจของสมาคมโฆษณาดิจิทัลปี2557 พบมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ 94.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี2556 ถึง 5.4 ล้านเครื่อง