‘ฮังการี’ปิดสถานีรถไฟสกัด’ผู้อพยพ’ เผยปีนี้ผู้ลี้ภัยข้ามทะเลมาแล้วกว่า 3.5 แสน

ผู้อพยพราวพันคนประท้วงหน้าสถานีรถไฟหลักในกรุงบูดาเปสต์เมื่อวันอังคาร (1ก.ย.) หลังถูกตำรวจฮังการีปิดล้อมห้ามเดินทางต่อไปยังยุโรปตะวันตก ขณะที่ผู้นำเยอรมนีเรียกร้องให้มีการจัดสรรความรับผิดชอบต่อผู้อพยพอย่างเป็นธรรมภายในอียู โดยไม่ฟังเสียงวิจารณ์จากฮังการีที่ว่า การผ่อนคลายกฎการรับผู้ลี้ภัยของเบอร์ลิน เพิ่มความหวังให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ในเวลาเดียวกัน ตัวเลขซึ่งมีการเปิดเผยออกมาล่าสุดระบุว่า เฉพาะในปีนี้มีผู้คนกว่า 350,000 คนเสี่ยงชีวิตจากชายฝั่งแอฟริกาข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อเข้าไปยังยุโรป

สถานการณ์ในสถานีรถไฟเคเลติ ในกรุงบูดาเปสต์เมื่อวันอังคาร (1) เต็มไปด้วยความโกลาหล ผู้อพยพที่มีจำนวนราว 1,000 คน ตะโกนว่า“เยอรมนี, เยอรมนี” พร้อมชูตั๋วรถไฟ หลังถูกตำรวจฮังการีบังคับให้ออกจากสถานี โดยเจ้าหน้าที่เผยว่า ฮังการีกำลังพยายามฟื้นระเบียบและบังคับใช้กฎของสหภาพยุโรป (อียู)

ฮังการีปิดสถานีรถไฟดังกล่าวช่วงสั้นๆ และประกาศห้ามเดินรถออกจากสถานี ก่อนที่จะเปิดให้บริการอีกครั้งสำหรับผู้โดยสารที่ไม่ใช่ผู้อพยพ โดยตำรวจตั้งแถวสกัดไม่ให้ผู้อพยพผ่านประตูใหญ่เข้าสู่สถานี

ทั้งนี้ ผู้อพยพจำนวนมากโอดครวญว่า จ่ายเงินหลายร้อยยูโรเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน และหลายคนรออยู่ที่สถานีมาหลายวันแล้ว โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรีย อัฟกัน และเอริเทรีย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเพียง 24 ชั่วโมงหลังจากตำรวจฮังการีอนุญาตให้ผู้อพยพที่ติดค้างในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวมานานหลายวัน เดินทางออกจากบูดาเปสต์ด้วยรถไฟไปยังเยอรมนีและออสเตรีย แม้คนจำนวนมากไม่มีวีซ่าเข้าอียูก็ตาม

การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้จำนวนผู้อพยพทะลักเข้าสู่ออสเตรียในวันเดียวพุ่งทำสถิติ โดยตำรวจยืนยันว่า ผู้อพยพ 3,650 คนเดินทางจากฮังการีถึงกรุงเวียนนาเมื่อวันจันทร์ (31 ส.ค.) โดยส่วนใหญ่มุ่งหน้าเดินทางต่อไปยังเยอรมนี ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วประกาศผ่อนคลายข้อจำกัดการรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย

วิกฤตผู้อพยพกำลังเป็นปัญหาหนักของยุโรปขณะนี้ เฉพาะเดือนกรกฎาคม มีผู้อพยพทะลักเข้าสู่ภูมิภาคนี้ทำสถิติสูงสุดถึง 107,500 คน โดยผู้อพยพจำนวนมากหนีสงครามหรือความแร้นแค้นมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกา

ตามตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยโดย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ในวันอังคาร (1) ระบุว่า ในจำนวนผู้อพยพกว่า 350,000 คนซึ่งข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจากแอฟริกามายังยุโรปในปีนี้นั้น มี 234,770 คนขึ้นบกที่กรีซ เฉพาะตัวเลขนี้ก็สูงกว่าจำนวนผู้อพยพ 219,000 คนซึ่งเข้าสู่ทั่วทั้งยุโรปในตลอดทั้งปี 2014 ไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้นในปีนี้ยังมีอีก 114,276 คนซึ่งขึ้นบกที่อิตาลี สำหรับที่เหลือเกือบทั้งหมดแบ่งกระจายขึ้นบกที่สเปน และที่เกาะมอลตา

ไอโอเอ็มระบุว่า ผู้อพยพที่พยายามข้ามทะเลมาในปีนี้ มีอย่างน้อย 2,600 คนเสียชีวิต เนื่องจากจมน้ำหรืออยู่ในสภาพถูกเบียดทับจนหายใจไม่ออก ในเรือซึ่งไม่เหมาะแก่การออกทะเล หรือเผชิญอันตรายกลางทะเล

ความเสี่ยงสำหรับผู้อพยพที่เดินทางเข้าสู่ยุโรปได้รับการตอกย้ำจากกรณีการเสียชีวิตของผู้อพยพ 71 รายในรถบรรทุกที่จอดทิ้งบนมอเตอร์เวย์ในออสเตรียโดยมีต้นทางจากบูดาเปสต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งคาดว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียที่หนีสงครามกลางเมืองออกมา

นอกจากนั้น วิกฤตผู้อพยพยังกำลังทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในหมู่ 28 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ก่อนถึงการประชุมฉุกเฉินระดับรัฐมนตรีมหาดไทยในวันที่ 14 นี้ โดยผู้นำทางยุโรปตะวันตกได้เรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการช่วยเหลือผู้อพยพระลอกใหม่ ขณะที่ประเทศในยุโรปตะวันออกไม่เห็นด้วย อาทิ สโลวาเกียที่ประกาศจะปฏิเสธผู้อพยพจากประเทศอิสลาม

ภายใต้กฎระเบียบกรุงดับลิน ของอียู ผู้ขอลี้ภัยต้องลงทะเบียนในประเทศสมาชิกอียูประเทศแรกที่เดินทางถึง อย่างไรก็ดี เกณฑ์วิธีนี้ถูกล่วงละเมิดอย่างกว้างขวาง เช่น คนจำนวนมากที่เดินทางถึงฮังการีนั้น แท้จริงแล้วเป็นพวกที่เดินทางถึงกรีซก่อนแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัย

นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกอย่างฮังการีและออสเตรีย ซึ่งเป็นจุดผ่านของผู้อพยพที่ต้องการเดินทางต่อไปยังยุโรปตะวันตก ยังออกปากว่า ไม่สามารถรองรับผู้อพยพระลอกใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทำลายสถิติต่อเนื่อง

ฮังการียังวิจารณ์การผ่อนคลายกฎการรับผู้ลี้ภัยของเยอรมนีว่า เพิ่มความหวังให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยฮังการีนั้นรับมือวิกฤตนี้ด้วยการสร้างรั้วลวดหนามมาตรฐานนาโตตลอดแนวชายแดนติดกับเซอร์เบีย

ทางด้านผู้นำเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ได้กล่าวภายหลังหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอยของสเปนเมื่อวันอังคาร โดยย้ำข้อเรียกร้องให้มีแนวทางร่วมในการรับมือวิกฤตนี้ และเสริมว่า ตนและราฮอยเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์ลงทะเบียนในอิตาลีและกรีซภายใต้ความร่วมมือของชาติสมาชิกทั้งหมด เพื่อรองรับผู้อพยพที่ถูกข่มเหงหรือหนีภัยสงครามมา โดยจะมีการจัดสรรความรับผิดชอบในยุโรปอย่างเท่าเทียมอิงกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ศักยภาพการผลิต และขนาดของแต่ละประเทศ

แมร์เคิลและราฮอยยังระบุว่า คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ควรเพิ่มความช่วยเหลือในการแก้ไขวิกฤตนี้ เช่น จัดทำรายชื่อประเทศต้นทางที่ปลอดภัย เพื่อให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่า ผู้อพยพมีเหตุผลสมควรในการขอลี้ภัยหรือไม่ โดยผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์จะถูกส่งกลับประเทศ

ทว่า บาบาร์ บาล็อก โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำยุโรปกลาง วิจารณ์แนวทางเฉพาะกิจของยุโรปว่า รังแต่ทำให้เกิดสถานการณ์น่าผิดหวังเหมือนที่เกิดขึ้นที่สถานีรถไฟในบูดาเปสต์เพิ่มขึ้น

ความคิดเห็น

comments