กรรมาธิการยุโรป หรืออีซี ประกาศมาตรการ 500 ล้านยูโร หรือประมาณ 20,455 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าตกต่ำ อันเนื่องมาจากการหยุดส่งสินค้าไปยังรัสเซีย เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งวิกฤติดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดคลื่นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดเมื่อวันจันทร์(7 ก.ย.)โดยมีเกษตรกรเกือบ 5,000 คนและรถแทร็กเตอร์มากกว่า 1,000 คัน เดินทางมายังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมเพื่อร่วมประท้วง ขณะที่สภาการเกษตรของอียูกำลังจัดการประชุมฉุกเฉิน
ขณะที่มาตรการนี้ถูกนำเข้าหารือในที่ประชุมสภาการเกษตรของอียู ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของประเทศสมาชิกเมื่อวันจันทร์(7 ก.ย.)แต่รายละเอียดบางอย่างยังไม่ได้ข้อสรุป คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า พวกเขากำลังแสวงหาหนทางช่วยเกษตรกรที่เงินสดขาดมือสร้างเสถียรภาพแก่ตลาดและปรับปรุงการทำงานของห่วงโซอุปทาน
ด้านอัลเบิร์ค แจน มาต ประธานกลุ่มเกษตรกรโคปา กล่าวว่ารัสเซียคือหนึ่งในตลาดหลักของอียูและหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตร สืบเนื่องจากความขัดแย้งวิกฤตยูเครนเมื่อปีก่อน ส่งผลให้ต้องสูญรายได้จากการส่งออกภาคการเกษตรราว 5,500 ล้านยูโร หรือประมาณ 225,005 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ มันไม่ใช่ความผิดของเกษตรกร แต่ภาคการเกษตรกลับได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เกษตรกรอียูต้องมาชดใช้ให้กับการเมืองระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ เกษตรกรอียูขายนมได้ราคาน้อยลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยเฉลี่ยราว 20 % โดยเหลือแค่ 30 เซนต์ยูโร/ลิตร ขณะที่ประเทศต่าง ๆในแถบบอลติกกลุ่มชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของรัสเซียสาหัสที่สุด ราคาร่วงลงมาเหลือแค่ราว ๆ 20 เซนต์ยูโรเท่านั้น อย่างไรก็ตามทางอียูปฏิเสธเข้าแทรกแซงราคาผลิตภันฑ์นม ตามคำเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกร แม้มันได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งฝรั่งเศส อิตาลี สเปนและโปรตุเกส