รมต.มหาดไทยยุโรปล้มเหลวช่วยผู้ลี้ภัย รอคุยใหม่ตุลาคม

เหล่ารัฐมนตรีมหาดไทยอียูเมื่อวันจันทร์(14ก.ย.) ล้มเหลวในความพยายามฝ่าทางตัน เกี่ยวกับการแบ่งบันภาระความรับผิดชอบมอบที่พักพิงแก่ผู้อพยพบางส่วนจากทั้งหมดหลายแสนคนที่ต้องการลี้ภัยในยุโรปในปีนี้ ส่งผลให้รูปร่างของข้อตกลงขั้นสุดท้ายตกอยู่ท่ามกลางความสงสัย

เสียงคัดค้านอย่างแน่วแน่จากเหล่ากลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกอดีตคอมมิวนิสต์ ได้ขัดขวางความพยายามของเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่ต้องการให้อียูบรรลุข้อตกลงที่เสนอโดยนายฌอง โคล้ด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป สำหรับแบ่งโควต้ารับผู้อพยพจำนวน 120,000 จากประเทศต่างๆที่อยู่แถวหน้า

ตามหลังการเจรจาที่ใช้เวลาถกเถียงกันนานกว่า 6 ชั่วโมง เหล่าคณะรัฐมนตรีระงับการตัดสินใจ โดยบอกว่าพวกเขาหวังบรรลุข้อตกลงในการหาสถานที่ใหม่ให้แก่ผู้ประสงค์ขอลี้ภัยในการประชุมคราวหน้าในวันที่ 8 ตุลาคม

เจ้าหน้าที่เผยว่าตามหลังให้การรับรองทางกฎหมายของแผนก่อนหน้านี้สำหรับเคลื่อนย้ายผู้อพยพ 40,000 คนไปยังประเทศต่างๆที่สมัครใจตอบรับพวกเขา ฮังการีและสโลวาเกียเป็นแกนนำต่อต้านคำร้องขอให้ยอมรับระบบโควตาเพื่อแบ่งจำนวนผู้ลี้ภัยมากขึ้น โดยโต้แย้งว่าแผนการนี้จะดึงดูดผู้อพยพหลั่งไหลมายุโรปเพิ่มเติมและนำไปสู่การเคลื่อนย้ายของมวลชนจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบชายแดนเสรีของยุโรป

“เราไม่ได้ข้อตกลงอย่างที่ต้องการ” ดิมิทริส อวารามูปูลอส กรรมธิการยุโรปด้านผู้อพยพบอกกับผู้สื่อข่าว “เสียงส่วนใหญ่ของชาติสมาชิกพร้อมก้าวไปข้างหน้า แต่ไม่ใช่ทั้งหมด”

เหล่ารัฐมนตรีมหาดไทยต้องปั้นหน้าหารือกันบนความเห็นที่แตกต่าง หนึ่งวันหลังเยอรมนีกลับลำ ตัดสินใจฟื้นมาตรการปิดพรมแดนติดกับออสเตรียและตรวจตราผู้ผ่านแดนอย่างเคร่งครัด หลังจากผู้ขอลี้ภัยทะลักเข้าเมืองจนรับมือไม่ทัน ส่งผลออสเตรียต้องเตรียมส่งกำลังทหารคุมเข้มชายแดนเช่นเดียวกัน เพื่อตรวจสอบการไหลบ่ามาของผู้อพยพซึ่งส่งผลกระทบเป็นโดมิโน คุกคามข้อตกลงเชงเก้นที่อนุญาตการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างเสรีภายในชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)

อย่างไรก็ตามพวกรัฐมนตรีเห็นพ้องเพิ่มกำลังพลและทรัพยากรต่างๆเพื่อปกป้องประเทศด่านหน้าชั้นนอก เช่นเดียวกับมอบความช่วยเหลือแก่สำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ โดยที่ตุรกีและประเทศอื่นๆได้มอบที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวซีเรียหลายล้านคนที่หลบหนีภัยสงครามมา

เจ้าหน้าที่บอกว่าว่าเหล่าผู้อพยพที่จะเดินทางมาสมทบเพิ่มเติมควรได้รับการโยกย้ายโดยตรงจากตะวันออกกลาง เพื่อกันพวกเขาออกจากการเดินทางที่เสี่ยงอันตรายและปฏิเสธยุ่งเกี่ยวกับพวกลักลอบขนผู้ย้ายถิ่น

ความแตกแยกของอียู ระหว่างยุโรปตะวันตกผู้มั่งมีกับยุโรปตะวันออกที่ยากจนกว่า นำโดยวิกเตอร์ ออร์แบน ของฮังการี ซึ่งรัฐบาลของเขา ใช้มาตรการสร้างรั้วกั้นพรมแดนของพวกเขาติดกับเซอร์เบีย เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากหลายฝ่าย ทำให้ อวารามูปูลอส ต้องเรียกร้องว่า “โลกกำลังจับตามองเราอยู่ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน”

ออร์แบน ปฏิเสธเข้าร่วมโปรแกรมแบ่งโควตารับผู้อพยพ แม้ว่าข้อเสนอของเหล่าผู้บริหารอียูจะยื่นข้อเสนอที่จะทำให้บูดาเปสต์ได้ผลประโยชน์ใหญ่หลวงสำหรับรับผู้ลี้ภัย 54,000 คน ขณะที่รัฐมนตรีมหาดไทยสโลวาเกีย ก็มีความเห็นสอดคล้องกันโดยระบุว่า “ระบบโควต้าไม่ใช่ทางออก”

นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเผยเมื่อวันศุกร์(11ก.ย.) ว่าเขาจะเรียกเหล่าผู้นำอียูประชุมฉุกเฉินหากรัฐมนตรีของพวกเขาไม่สามารถบรรลุทางออกได้ อย่างไรก็ตามหลายรัฐบาลตั้งคำถามว่าการประชุมลักษณะนี้จะมีค่าอะไรหากว่าจัดขึ้นก่อนการประชุมของเหล่ารัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งจะมีการหารือกันอีกครั้งในลักเซมเบิร์ก วันที่ 8 ตุลาคม

ขอบคุณ ASTV

ความคิดเห็น

comments