แพทย์ไร้พรมแดนร้องนานาชาติสอบมะกันทิ้งบอมบ์ถล่ม รพ. เล็งเอาผิดทางอาญา

กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เมื่อวันพุธ (7 ตุลาคม) เรียกร้องขอคณะกรรมการนานาชาติที่เป็นอิสระเข้าสืบสวนกรณีเครื่องบินรบสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศถล่มโรงพยาบาลของพวกเขาในเมืองคุนดุซของอัฟกานิสถาน คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์หลายสิบศพ เหตุการณ์ที่องค์กรบรรเทาทุกข์แห่งนี้ประณามว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม”

องค์การแพทย์ไร้พรมแดนบอกว่า คณะกรรมการสืบสวนนานาชาติควรเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ จากสหรัฐฯ นาโต และอัฟกานิสถาน เช่นเดียวกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ MSFและคนไข้ที่รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว จากนั้นทาง MSF จะพิจารณาว่าจะเอาผิดทางอาญาหรือไม่ ต่อเหตุสูญเสียชีวิตและอาคารของโรงพยาบาลพังพินาศบางส่วน จนทำให้ชาวอัฟกานิสถานหลายพันคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล

“ถ้าเราปล่อยให้มันผ่านไปเสมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เท่ากับว่าเราให้อำนาจอย่างไม่จำกัดแก่ประเทศไหนๆที่อยู่ในสงคราม” นางโจแอนน์ หลิว ประธานองค์การแพทย์ไร้พรมแดน แถลงสรุปกับผู้สื่อข่าว และว่า “ถ้าเราไม่ได้รับการคุ้มครองพื้นที่ด้านการแพทย์เพื่อดำเนินกิจกรรมของเรา เมื่อนั้นมันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมอื่นๆ อย่างเช่นซีเรีย ซูดานใต้และเยเมน”

“เราไม่อาจพึ่งพาการสอบสวนภายในของสหรัฐฯ นาโต และกองกำลังอัฟกานิสถานได้” ประธานของ MSF กล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมย้ำว่าคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงจากองค์กรด้านมนุษยธรรมนานาชาติควรเป็นผู้ตรวจสอบการก่อเหตุในครั้งนี้ “นี่ไม่ใช่การโจมตีต่อโรงพยาบาลของเราเท่านั้นแต่มันยังเป็นการโจมตีต่ออนุสัญญาเจนีวาด้วย” หลิวกล่าวโดยอ้างถึงอนุสัญญาว่าด้วยการพิทักษ์ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม “นี่เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”

กระทรวงกลาโหมของอัฟกานิสถานระบุเมื่อวันอาทิตย์(4 ตุลาคม) ว่านักรบตอลิบานโจมตีโรงพยาบาลดังกล่าวและใช้อาคารเป็นโล่มนุษย์ แต่ทางองค์การแพทย์ไร้พรมแดนปฏิเสธ พร้อมชี้ว่าการไม่ยอมรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บเท่ากับเป็นอาชญากรรมสงคราม

หลิวบอกว่า คณะกรรมการย่อยซึ่งสามารถจัดตั้งได้จากคำร้องขอของรัฐหนึ่งๆ ภายใต้อนุสัญญาเจนีวาที่กำหนดมาตรฐานการทำสงครามของนานาชาติเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากมีคำบอกเล่าที่ขัดแย้งกันระหว่างสหรัฐฯ และอัฟกานิสถาน

สหประชาชาติประณามเหตุโจมตีดังกล่าว แต่บอกว่าจะรอผลตรวจสอบของคณะสืบสวนสหรัฐฯ นาโต้และอัฟกานิสถาน ก่อนตัดสินใจว่าจะสนับสนุนคณะกรรมการสืบสวนอิสระหรือไม่

ส่วนทางที่ปรึกษาทางกฎหมายขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน บอกกับรอยเตอร์เมื่อถูกถามว่าทาง MSF จะแสวงหากระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ว่า “เราไม่รู้ว่าก้าวย่างต่อไปคืออะไร เราไม่ต้องการขีดฆ่าทางเลือกใดๆ ทั้งนั้น”

โรงพยาบาลขององค์การแพทย์ไร้พรมแดนในคุนดุซ ให้การรักษาคนไข้เกือบ 400 คน รวมถึงนักรบจากฝ่ายต่างๆ ที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีด้วย

ความคิดเห็น

comments