อาลัย บูราฮานูดิน อุเซ็ง คนทำงานการเมือง ต่อสู้เพื่อมุสลิมชายแดนใต้

สูญเสีย บูราฮานูดิน อุเซ็ง หรือปลัดดิง คนทำงานเบื้องหลังขับเคลื่อนงานการเมืองเพื่อมุสลิมชายแดนใต้ จากการต่อสู้เพื่อฮิญาบสู่การออกกฎหมายหลายฉบับ งานสุดท้าย คือดันตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียนในยะลา เผยบทบาทสำคัญในทุกสถานะคือ ทำข้อมูลแล้วกระจายออก

Deep South Watch : นายบูราฮานูดิน อุเซ็ง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จังหวัดยะลาหลายสมัย และเป็นอดีตสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มวะดะห์ ได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 4 นาฬิกา ของวันที่ 17 ตุลาคม 2558 ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ด้วยอาการไตวาย หลังจากญาติพาเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการอ่อนเพลียตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้นายบูราฮานุดิง มีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัวมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว และช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีอาการหนักขึ้นแต่ยังสามารถทำงานหรือร่วมกิจกรรมต่างๆได้

นายบูราฮานูดินเสียชีวิตขณะมีอายุ 61 ปี โดยญาติได้นำร่างกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามที่ชุมชนตลาดล่าง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นบ้านเกิด โดยทำพิธีละหมาดศพเมื่อเวลา 13.30 น.ที่มัสยิดกลางบันนังสตา ซึ่งมีผู้มาร่วมพิธีจำนวนมากซึ่งมีผู้มีชื่อเสียงหลายคน จากนั้นได้นำร่างไปฝังเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.

นายบูราฮานูดินนับว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากคนหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่อสู้เรียกร้องตามความต้องการของชาวมุสลิมในพื้นที่ รวมทั้งความสำเร็จในเรื่องต่างๆของกลุ่มวะดะห์เอง แต่ส่วนใหญ่เป็นบทบาทที่อยู่เบื้องหลัง จึงทำให้เขาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากนักเมื่อเทียบกับนักการเมืองคนอื่นๆในพื้นที่

นายบูราฮานูดิน เกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2497 เขาสำเร็จการศึกษาสาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยการาจี ประเทศปากีสถาน

นายบูราฮานูดิน เคยรับราชการสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยนานหลายปี เคยเป็นปลัดอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายแห่ง จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ปลัดดิง” จากนั้นได้ลาออกมาสมัคร ส.ส.ยะลา และได้เป็นส.ส.2 สมัย สังกัดพรรคความหวังใหม่ และพรรคไทยรักไทย

นักอ่าน นักแปล นักเขียน
ด้วยความที่เป็นข้าราชการมาก่อน ทำให้มีความเข้าใจเรื่องระเบียบราชการอย่างดี รวมทั้งมีความรู้ด้านกฎหมายและการปกครอง และยังเป็นนักอ่านและนักแปลตัวยง ทำให้มีความรู้มากและทำให้เขามีบทบาทในด้านข้อมูลและเอกสารมาตลอด เคยเขียนบทความหลายชิ้นเผยแพร่ทางสื่อ ทั้งเรื่องสังคม การเมือง ศาสนา แม้แต่เรื่องสันติภาพ เรื่องบทความแปลเรื่อง “การเจรจา “สันติภาพในอาเจะห์” หรือบทความเกี่ยวกับมุสลิมในประเทศต่างๆ เช่น อิสลาม & มุสลิมในทิเบต : อาภรณ์ประดับแห่งกรุงลาซา เป็นต้น

บทความส่วนหนึ่งของเขา สามารถเปิดอ่านในบล็อคของเขาได้ใน http://www.deepsouthwatch.org/blogs/Burhannuddin

สำหรับบทความทางศาสนาอิสลามนั้น เขาไม่ได้ใช้ชื่อจริง แต่ใช้นามปากก เช่น อาบูนูรซาร์ฮิดะห์ หรือ อาบูนูรฮีดายะห์

ต่อสู้เพื่อฮิญาบ
นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.จังหวัดนราธิวาสหลายสมัยและอดีตสมาชิกกลุ่มวะดะห์ เล่าถึงบทบาทสำคัญๆนายบูราฮานูดินว่า บทบาทแรกเริ่มต้นในช่วงปี 2539 คือการร่วมชุมนุมประท้วงกรณีวิทยาลัยครูยะลาออกคำสั่งห้ามนักศึกษาสตรีมุสลิมคลุมฮิญาบเข้าห้องเรียน ขณะนั้นเขาเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอรามัน จ.ยะลา เนื่องจากผิดหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งเขาเห็นด้วยกับนักศึกษาที่ร่วมประท้วงในครั้งนั้น

“การเข้าร่วมชุมนุมครั้งนั้น ทำให้เขาถูกสั่งย้ายไปประจำศูนย์ประสานการปกครอง กรมการปกครอง ซึ่งก็คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน และเขาเองก็คิดว่าถูกกลั่นแกล้ง สุดท้ายจึงลาออกจากราชการ”

ประกอบกับในช่วงหลังจากนั้นทางกลุ่มวะดะห์กำลังสรรหาผู้ที่เหมาะสมเพื่อจะส่งลงสมัคร ส.ส. ในปี 2538 ในนามพรรคความหวังใหม่ที่มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรค เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วก็ถูกเลือกให้เป็นเลขานุการกลุ่มวะดะห์ ทำหน้าที่บันทึกการประชุม ทำงานเอกสารต่างๆ นั่นคือบทบาทที่ 2

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2539 เขาสอบตก แต่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงเลือกให้เขาเป็นเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร

ออกกฎหมายหลายฉบับ
ตลอดช่วงที่เขาเป็นนักการเมือง เขามีส่วนในการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่ตรงกับความต้องการของพี่น้องมุสลิม ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย การแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ให้สตรีมุสลิมสามารถสวมฮิญาบถ่ายรูปบัตรประชาชนได้ การแก้ไขระเบียบที่ให้นักเรียนนักศึกษาสตรีมุสลิมสามารถสวมฮิญาบได้ทั่วประเทศ พ.ร.บ.จัดตั้งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ พ.ร.บ.การบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

นอกจากนี้ยังเสนอ พ.ร.บ.ศาลชารีอะห์, พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ และพ.ร.บ.ซากาต แต่การเสนอกฎหมายทั้งสามฉบับนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามได้มีการตกลงกันว่าหากกลุ่มวะดะห์มีอำนาจขึ้นมาอีกครั้งก็จะต่อสู้ต่อไปโดยเสนอกฎหมายทั้งสามฉบับนี้อีกครั้ง

บทบาทต่อมาของบเขาคือการเผยแพร่ความรู้ โดยเขาได้เขียนบทความต่างๆมากมายเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ รวมทั้งการเป็นนักแปล ซึ่งเขาแปลบทความภาษาอังกฤษหลายชิ้น นอกจากนี้เขายังเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันรัชต์ภาคย์ ศูนย์จังหวัดยะลา

“การสูญเสียเขาครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่ต่อสู้เพื่อคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการต่อสู้ในด้านข้อมูล การต่อสู้ในทางการเมืองทั้งในพื้นที่และต่างประเทศ ที่สำคัญคือ เขาเป็นคนตรงไปตรงมา”

ส่วนบทบาทของเขาในช่วงหลังปี 2547 เป็นต้นมานั้น ก็มีหลายอย่างโดยเฉพาะการให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ แต่การต่อสู้เรียกร้องในฐานะนักการเมืองนั้นไม่สามรถทำอะไรได้มากนักเนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่างในทางการเมือง ซึ่งทุกคนในกลุ่มวะดะห์ได้มาสรุปบทเรียนแล้วว่าจะร่วมกันเดินหน้าต่ออย่างไรหลังจากที่ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยแล้ว

บทบาทสำคัญ ทำข้อมูลแล้วกระจายออก
นายระเด่น สะมะแอ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ยะลา อดีตเลขานุการของนายบูราฮานูดิน เล่าว่า ในช่วงที่เขาต่อสู้เรื่องฮิญาบ เขาเป็นคนทำข้อมูลแล้วกระจายออกไป เช่น ข้อมูลเรื่องระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของนักเรียนนักศึกษา ต่อมาเมื่อเขาเป็นนักการเมืองเขาก็มีบทบาทเดิมคือทำข้อมูลแล้วกระจายออกไป ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่ทำให้ ส.ส.อื่นให้การยอมรับมาก และจะหาคนที่มีบทบาทนี้ได้ดียากมาก

งานสุดท้าย ดันตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียน
นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกียา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เล่าว่า เคยร่วมงานกับนายบูราฮานูดินเมื่อปี 2538 ในฐานะ ส.ส.ด้วยกัน คือการร่างพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เห็นว่าเขาเป็นคนที่มุมานะและยึดกฎระเบียบมาก

ในช่วงหลังได้มาร่วมทำงานอีกครั้งในเวทีแสดงความคิดเห็นของนักการเมืองที่จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยามหิดล ที่จัดขึ้นหลายครั้งแล้ว โดยมีแนวคิดหนึ่งที่เขาต้องการคือการตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียน ที่อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้วมาตั้งแต่ปี 2557 โดยการตั้งเป็นโรงเรียนเด็กกำพร้าก่อน จากนั้นจะพัฒนาเป็นโรงเรียนสอนภาษานานาชาติแล้วพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยต่อไป โดยความช่วยเหลือของนักวิชาการมาเลเซียและอินโดนีเซีย

“เมื่อเขาเสียชีวิตก็ขาดคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ไป คิดว่าในกลุ่มนักการเมืองและนักวิชาการที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้มาก่อนจะต้องมาคุยกันอีกครั้งว่าจะสานต่อเรื่องนี้อย่างไร”

ความคิดเห็น

comments