การเมืองของความทรงจำ เพื่อการเปลี่ยนผ่าน

“ถามว่าคนรุ่นใหม่จะมีบทบาทอย่างไรกับความทรงจำเหล่านั้น ฉันคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่จะมาปลดล็อคความทรงจำแบบเพื่อการเมือง มาสู่การเมืองของความทรงจำเพื่อการเปลี่ยนแปลง นั่นคือต้องเริ่มปลดล็อคความเชื่อต่อเหยื่อที่มีความรุนแรง”

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในงานเสวนา “สิ่งที่เหลืออยู่ สู่ความทรงจำใหม่ ปาตานี/ชายแดนใต้” จัดขึ้น ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ) โดยในช่วงหนึ่งของการเสวนา ดร.ประทับจิต นีละไพจิตร (บุตรสาวทนายสมชาย นีละไพจิตร นักสู้เพื่อความยุติธรรมจนถูกอุ้มหาย) ได้พูดถึงความทรงจำกับการเมืองในไทย โดยยกตัวอย่างกรณีการหายตัวไปของฮัจยีสุหลง

ดร.ประจับจิต กล่าวว่า ในสังคมไทย การนำเทคนิค วิธีการบังคับบุคคลสูญหายมาใช้อุบัติขึ้นในปี 2490 เป็นเพราะว่า มีเอกสารบันทึกเอาไว้ว่า ในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลก ซึ่งแนวคิดแบบนี้ถูกส่งต่อจากสหรัฐเข้ามา ซึ่งช่วงนั้นทำไมตำรวจถึงเป็นหน่วยงานแรกที่ถูกบันทึกว่า เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลสูญหาย

“ดิฉันพบเอกสารฉบับหนึ่งจากต่างประเทศ ที่พูดถึงการเเลกเปลี่ยนวิธีการในการจับผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย สอบเค้นข้อเท็จจริง หนึ่งในนั้นคือ การบังคับสูญหาย สันติบาลไทยเป็นหน่วยงานแรกที่ซื้อวิธีการนี้มาใช้ เพราะฉะนั้นในช่วงทศวรรษดังกล่าว ผู้ใช้วิธีการนี้เป็นวิธีการหลักคือ ตำรวจ”

ในกรณีของอัจยีสุหลงก็เกิดขึ้นในบริบทของช่วงนั้นที่มีการลอบสังหารผู้นำทางการเมือง โดยเฉพาะทางฝั่งอาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นผู้นำแนวคิดใหม่ เท่าที่มีการตรวจสอบมี อยู่ 4 ท่านด้วยกัน ในกรณีฮัจยีสุหลงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีนักการเมืองสองท่าน และในกรณีฮัจยีสุหลงต้องพูดว่า มีผู้ถูกบังคับสูญหาย 4 ท่าน ท่านฮัจยีสุหลงมีความสำคัญมากต่อคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เปรียบได้ดังโลหิตของคนในพื้นที่ แม้ว่ารัฐจะพยาายมจับกุมเท่าไร ก็ไม่สามารถต้านแรงเสียดทานเหล่านี้ได้

วิธีการที่ฮัจยีสุหลงถูกทำให้หายไป คือหนึ่งในลักษณะของการบังคับหาย ซึ่งมีกรณีอย่างน้อยสามตัวอย่างเช่น 1. ทำให้หายไประหว่างการเดินทาง ซึ่งหลายคนเป็นอย่างนั้นเช่น ทนายสมชาย นีละไพจิตร ก็ได้หายไประหว่างเดินทาง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าอยู่ดีๆ จะเกิดขึ้น จากการศึกษาพบว่า มีการติดตามตัวจนรู้ว่าช่วงเวลาไหนใคร จะเดินทางไปไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ฮัจยีสุหลงหายไปในแบบที่สอง นั้นคือ ถูกเชิญตัวไป พบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลสูญหาย ถือว่าผู้ที่อยู่กับคนคนนั้นเป็นคนสุดท้าย ต้องเป็นคนรับผิดชอบ ในกรณีแบบนี้อย่างกรณีของ บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ถูกเจ้าหน้าเรียกไปและหายตัวไป

ต่อมาแบบที่สามคือ การถูกจับกุม

“ดิฉันเห็นว่า รูปแบบเหมือนกัน สิ่งที่เปลี่ยนไป และน่าสนใจคือ เหตุผล ข้ออ้างในการรองรับให้บุคคลสูญหาย ก็ขยายออกมาเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ”

หากเราได้ติดตามจะเห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจ คลุมเครือเกี่ยวกับกรณีบังคับบุคคลสูญหายก็คือว่า มีการพูดถึง แต่ในตอนแรกทางครอบครัวมีการเขียนจดหมายไปถามรัฐบาลว่า ฮัจยีสุหลงหายไปไหน ซึ่งน่าสนใจว่า กรณีคนหายส่วนมากรัฐไม่ได้เงียบ รัฐมักตอบ โดยมากรัฐไทยมักจะตอบในลักษณะ เช่น “เข้ามาพบสันติบาลจริงแต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว คาดว่าน่าจะหนีไปมาเลเซีย”

หรือในกรณีทนายสมชาย ก็ได้รับคำตอบจากรัฐว่า “คุณสมชายทะเลาะกับภรรยาและได้หนีไปต่างประเทศ” ซึ่งเวลารัฐตอบ รัฐมักจะอธิบายว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัว และเป็นการหายไปเอง หายไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการควบคุมบังคับสูญหาย

ความทรงจำประเภทหนึ่งที่มักถูกใช้ในสังคมไทย นั้นคือ 1. ความทรงจำเพื่อการเมือง อย่างที่ 2. การเมืองของความทรงจำเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ยกกรณีเวลาที่เราได้ยินเรื่องราวการสูญหายของฮัจยีสุหลง เรื่องที่เรามักได้ยิน นั่นคือ เรื่องเล่าข้อเรียกร้องของท่าน 7 ประการ ซึ่งคนรุ่นใหม่มักจะเอาเรื่องเล่าของท่านไปใช้เพื่อเรียกร้องต่างๆ ผนวกกับวัฒนธรรมการเมืองไทยที่เป็น วัฒนธรรมแบบ winner take all ซึ่งเป็นลักษณะ ผู้ชนะกินรวด เรียกว่าทั้งการเมืองในส่วนกลาง หรือภูมิภาคใต้ มันไม่เป็นการนำกลับไปสู่การปรองดอง สันติภาพอย่างแท้จริง เวลาที่ต่างฝ่ายต่างใช้ความทรงจำเป็นตัดตอนเอาความเจ็บปวดมาใช้ ทำให้เวลาฝ่ายไหนชนะ ก็มักเอาความทรงจำเจ็บปวด ขึ้นมากดทับอีกฝ่าย

ดร.ประทับจิต เผยว่า หลังจากได้อ่านประวัติของท่านฮัจยีสุหลงแล้ว ประทับใจท่านมากเพราะท่านไม่ใช่นักการเมืองประเภท winner take all จะเห็นว่า ฮัจยีสุหลงไม่ใช่ผู้ที่พยายามนิยามความเป็นชาตินิยมเลย ท่านให้ความสนใจในเรื่อง cosmopolitan การไม่มีภาษา ไม่มีชาติเป็นข้อผูกมัด

น่าสนใจว่า ท่านเป็นคนหนึ่งที่เรียนปอเนาะ ท่านพยายามต่อสู้ต่อรองกับชนชั้นเก่าในพื้นที่ ในขณะเดียวท่านเดินทางขึ้นมากรุงเทพ เพื่อมาติดต่อสัมพันธ์ เพื่อต่อรองทางการเมืองในกรุงเทพ

“แปลว่า ท่านไม่มีความรู้สึกของการเป็นพลงเมืองชั้นสองเลย” แต่ในขณะเดียวกันกลับมามองในสามจังหวัดชายแดนใต้ ปีกการเมืองอ่อนมากเพราะอะไร เป็นเพราะไม่มีการทำการเมืองการภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศเลย

อีกส่วนหนึ่งฮัจยี สุหลงท่านดำเนินการความสัมพันธ์กับทางมาเลเซียด้วย วันที่ท่านหายไป ปรากฏว่ าคนที่ดำเนินเรื่องตามหาความเป็นจริง ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่เกิดขึ้นที่มาเลเซีย หนังสือพิมพ์มาเลเซียตั้งคำถามว่า “ฮัจยีสุหลงหายไปไหน” ประวัติศาสตร์ตรงนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้หรือเผยแพร่ในสังคมไทย และนี่มีส่วนทำให้เรามีมุมมองต่อนักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบมีอคติจนถึงปัจจุบัน

“ดิฉันคิดว่าคนรุ่นใหม่จะมีบทบาทอย่างไรกับความทรงจำเหล่านั้น ฉันคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่จะมาปลดล็อคความทรงจำแบบเพื่อการเมือง มาสู่ การเมืองของความทรงจำเพื่อการเปลี่ยนแปลง นั่นคือต้องเริ่มปลดล็อคความเชื่อต่อเหยื่อที่มีความรุนแรง” สมมติว่า คนอ่านประวัติฮัจยีสุหลง บางคนคิดว่านี่คือนักการเมือง นักเคลือนไหวทางการเมือง ถูกไหม บางคนมีความคิดประทับใจว่า ฮัจยีสุหลงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำทางศาสนา เป็นผู้รู้ทางศาสนา การมีภาพจำแบบว่า อัตลักษณ์ของใครเป็นอย่างใดอย่างนึงแบบนั้น นั่นคือปัญหา เพราะเราจะไปคาดหวังว่า ต้องบริสุทธิ์ ผุดผ่อง

“โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่าท่านเป็นผู้นำศาสนา เป็นบาบอโต๊ะครู ที่มีความน่าสนใจมาก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันนี่หาได้น้อยมาก ท่านเป็นนักคิดที่มีแนวคิดทางการเมือง ท่านมีความรู้ทางสังคม”

แต่ปัญหาความไม่เป็นธรรมในปัจจุบันส่วนหนึ่งเกิดจาก ผู้นำศาสนา ผู้นำในพื้นที่ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจทางสังคมอย่างแท้จริง ส่งผลกระทบต่อสังคมในพื้นที่พอสมควร กลุ่มนักการเมืองในปัจจุบัน ไม่ได้ทำการเมืองในแบบที่ฮัจยีสุหลงทำ แต่ทำการเมืองกันเองในพื้นที่

“ดิฉันคิดว่า หากเราสามารถผลิตหรือว่าพัฒนานักการเมืองไทยแบบฮัจยีสุหลง ที่เป็นผู้ที่มีสัญชาตญาณการเป็นนักการเมืองที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อรองต่อสู้กับคนต่างๆ ที่กว้างไปจากสังคมตัวเอง ข้ามไปจากสีเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน หรือชาติพันธ์เดียวกัน”

ดร.ประทับจิต กล่าวด้วยว่า การเมืองเหล่านี้ที่ฮัจยีสุหลงพยายามจะสร้าง คือการเมืองแบบพหุสังคม พหุวัฒนธรรม จริงๆ และไม่ใช่พหุวัฒนธรรมแบบ หน่อมแน้ม

การเมืองในความทรงจำกับฮัจยีสุหลงมีอย่างไรบ้าง มีอะไรบ้าง และทุกคนทราบหรือไม่ว่า มีการเล่าเรื่องฮัจยีสุหลงแล้ววิเคราะห์ควาทรงจำของอัจยีสุหลง 4 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งเป็นฉบับของมูลนิธิ ฮัจยีสุหลง ซึ่งแน่นอนในตอนแรกทางมูลนิธิไม่ได้ใช้คำว่าสูญหาย แต่ใช้คำว่าถูกฆาตกรรม

แน่นอน คำว่า “บังคับบุคคลสูญหาย” เป็นคำใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้น และเมื่อปีที่เเล้วทางมูลนิธิเปลี่ยนมาใช้คำว่า “สูญหาย” แทน สิ่งคือการเมืองของการเปลี่ยนแปลงการต่อสู้ ต่อรองในวงการสิทธิมนุษยชน ทุกๆ ฉบับเมื่อลองได้อ่านเเล้ว ทำให้เห็นเรื่องราวที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ไม่ได้หยุดนิ่ง

” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะสามารถเข้าไปมีปฎิสัมพันธ์ได้ ด้วยการไม่ตราตรึงผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ตราตรึงเหยื่อ คุณจะไม่สามรถเปลี่ยนแปลงอย่าอื่นได้เลย คุณต้องบริสุทธิ์ด้วยความเป็นเหยื่อที่น่าสงสารตลอดไป เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไปพลักภาระให้กลุ่มคนเคลื่อนไหว โดยนำเอาความเจ็บปวดในอดีตขึ้นมา และสร้างวาทะกรรมประเภท คุณไม่เจ็บปวด คุณลืมเขาเเล้วหรือ คุณจะมาทำหน้าที่นักการเมืองคุณลืมเขาเเล้วหรือ

ดิฉันคิดว่าคนในสังคมจะต้องเข้าไปในความทรงจำแล้วปลดทุกคน ปลดเหยื่อให้เป็นอิสระ จากความทรงจำเพื่อการเมือง ดิฉันคิดว่า การตราตรึงและใช้ความทรงจำเฉพาะ มองเเบบขาดตอน ยังพบว่า มีผู้ใช้เป็นส่วนมาก แม้กระทั่งเหตุการณ์ตากใบ ความทรงจำลักษณะนี้ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองของตัวเอง ไม่ได้ใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองให้ดีขึ้น อยากให้คนรุ่นใหม่ก้าวข้ามความทรงจำเหล่านั้น ปลดล็อคความเจ็บปวดในอดีต เพื่อขับเคลื่อน พัฒนาต่อไปในอนาคต”

ความคิดเห็น

comments