วันจันทร์ (9 พฤศจิกายน) เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 18 / 1 หมู่ที่ 3 บ้านลูโบะบูโละ ตำบลสามัคคี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมมอบกระเช้าเยี่ยม สำรวจสภาพความเป็นอยู่ เพื่อให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการซ่อมแซมบ้านและการให้ความช่วยเหลือด้าน การพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ ศอ.บต. ลงไปดูแลตรวจสุขภาพเบื้องต้นด้วย
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าว สืบเนื่องจาก นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดหาบุคคลหรือผู้ได้รับความเดือดร้อนและร้องขอความช่วยเหลือจากโครงการคลาย ทุกข์ที่ต้นทางของ ศอ.บต.ตามรายงานของเครือข่ายลำดับที่ 1,000 เพื่อเชิญมาแสดงความรู้สึกและรับรางวัลเป็นผู้โชคดี ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องโถง อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับครอบครัวของนายอับดุลเลาะ บูละ พี่ชายคนโต อายุ 19 ปี ได้ร้องเรียนผ่านทางบัณฑิตอาสา ซึ่งตนเป็นเด็กกำพร้า อาศัยอยู่กับน้า คือ นางสาวคอพีเย๊าะ ดอเลาะ มีความพิการทางการได้ยิน ประกอบกับครอบครัวมีฐานะยากจน ตนจึงต้องออกไปทำงานรับจ้าง มีรายได้เพียงวันละ 200 บาท ซึ่งต้องเป็นเสาหลักในการเลี้ยงดูน้าและน้องๆ อีก 3 คน โดยน้องคนเล็กมีอายุเพียง 4 ขวบ
นางสาวดารูณี วาเด็ง บัณฑิตอาสา หมู่ที่ 3 ตำบลสามัคคี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลานชายถึงปัญหาของครอบครัว จึงประสานงาน ส่งต่อข้อมูลไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับผู้ร้องเรียน เป็นคนขยันหมั่นเพียรในการหาเงินเพื่อเลี้ยงดูน้าและน้องๆ ทั้งๆที่ยังมีอายุน้อย และคนที่เลี้ยงดูก็ไม่มีรายได้ ปัจจุบันหลานชายติดเกณฑ์ทหาร ไม่สามารถหาเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ จึงมอบหมายให้ลูกสาวของน้าทำหน้าที่แทน ตนรู้สึกดีใจที่ ศอ.บต.มีโครงการคลายทุกข์ที่ต้นทาง คอยให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน จึงประสานงานไปที่ผู้ใหญ่บ้าน แล้วส่งเรื่องต่อไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประสานงานมอบโอกาสดีๆ ให้กับครอบครัวที่มีความลำบากให้ได้รับการช่วยเหลือ รู้สึกภูมิใจในความเป็นบัณฑิตอาสา และพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีอื่นๆ เพราะบัณฑิตอาสาถือเป็นศูนย์กลางในการทำหน้าที่ประสานงานและให้บริการประชาชน
ทั้งนี้ โครงการ คลายทุกข์ที่ต้นทาง เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากต้นเหตุของปัญหา โดยสามารถร้องเรียนผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานร่วมกับเครือข่ายของ ศอ.บต.โดยเฉพาะบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิที่ทำหน้าที่ประสานงานให้ความช่วย เหลือประชาชนภายในหมู่บ้าน โดยทุกปัญหาจะได้รับการประสานงานดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป