“ซูจี” พบ “ฉ่วยมาน” หารือปรองดองหวังช่วยส่งต่ออำนาจราบรื่น

อองซานซูจี พบกับ ฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์วันพฤหัสบดี (19 พฤศจิกายน) เพื่อหารือการปรองดองฝ่ายการเมืองต่างๆ ในประเทศ หลังชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อต้นเดือน

ซูจียังได้พบกับทูตจากประเทศต่างๆ ทั้ง รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ และสเปน ที่อาคารหลังหนึ่งในหมู่อาคารรัฐสภาในวันเดียวกันหลังพบหารือกับทูตจีนหนึ่งวันก่อนหน้า

ซูจีมีท่าทีประนีประนอมต่อประธานาธิบดีพม่าและกองทัพที่ทรงอำนาจและต่อพรรคของอดีตนายพลที่บริหารประเทศนับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหารมอบอำนาจให้กับรัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554

แม้ว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งและพล.อ.มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้แสดงความยินดีกับชัยชนะของซูจี ความสงสัยก็ยังติดค้างอยู่ในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพม่าที่เคยเห็นชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของซูจีในปี 2533 ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลเผด็จการทหาร

แต่กำหนดวันพบหารือระหว่างประธานาธิบดีและซูจียังไม่มีประกาศในตอนนี้

ซูจีและฉ่วย มาน ที่มีอิทธิพลต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติในรัฐสภา เห็นชอบในวันนี้ (19) ที่จะนำความสงบสุขมาสู่จิตใจของประชาชนด้วยการร่วมมือและการเจรจาตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่สภาชุดใหม่

ฉ่วย มาน เป็นผู้นำฝ่ายที่มีอิทธิพลของพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) และความร่วมมือของเขาในช่วงสัปดาห์ข้างหน้าอาจมีความสำคัญระหว่างการเปลี่ยนผ่านก่อนที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจีจะเข้าทำหน้าที่ ที่อาจจะอยู่ในช่วงปลายเดือนมี.ค.

พรรค USDP เสียที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาในการเลือกตั้ง แต่สมาชิกสภาชุดปัจจุบันที่พ่ายเลือกตั้งจะยังทำหน้าที่ไปจนถึงเดือนม.ค.

ก่อนการเลือกตั้ง ฉ่วย มาน มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นอดีตนายพลที่เอนไปทางปฏิรูปมากคนหนึ่งในพรรค USDP ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างเขากับซูจีถูกตั้งข้อสงสัยจากประธานาธิบดีและมีส่วนทำให้เขาถูกถอดออกจากการเป็นผู้นำพรรค

ความสัมพันธ์ของพรรค NLD กับทหารจะพัฒนาไปอย่างไรนั้นถือเป็นหนึ่งในความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเปลี่ยนผ่าน

กองทัพจะเป็นฝ่ายค้านกลุ่มใหญ่ด้วยร้อยละ 25 ของที่นั่งในสภาถูกสงวนไว้ให้กับทหารตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารร่างขึ้นก่อนมอบอำนาจในปี 2554 รวมทั้งบทบัญญัติที่รับรองอำนาจในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญและตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญ 3 กระทรวง

และหนึ่งในต้นตอของความตึงเครียดใหญ่ที่สุดระหว่างซูจีและทหารคือ มาตราในรัฐธรรมนูญที่ห้ามซูจีจากการเป็นประธานาธิบดี พรรค NLD ต้องการให้ทหารสละบทบาทของตัวเองในการเมืองเพื่อให้พรรคสามารถยกเลิกข้อห้ามดังกล่าวได้

ความคิดเห็น

comments