แบร์กนาร์ กาเซอเนิฟ รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศสเผย ได้ปฏิเสธการขอเข้าประเทศของผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 1,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรีย นับตั้งแต่เหตุก่อวินาศกรรมกลางกรุงปารีสเป็นต้นมา
รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศสเปิดเผยเรื่องดังกล่าวระหว่างการเดินทางไปยังเมืองสตราสบูร์ก ในวันเสาร์ (28 พฤศจิกายน) โดยระบุว่าการตัดสินใจปฏิเสธผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 1,000 รายดังกล่าวของฝรั่งเศส เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการที่นำมาใช้เพื่อยกระดับความเข้มงวดในการควบคุมการผ่านเข้าออกพรมแดนของประเทศ และเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยรวมถึง ความมั่นคงของฝรั่งเศสเอง
นอกเหนือจากการปฏิเสธรับผู้อพยพที่ส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียดังกล่าวแล้ว รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศสยังเปิดเผยว่า ทางกระทรวงฯ ได้สั่งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมแล้วกว่า 15,000 คนเพื่อคุมเข้มแนวชายแดนของประเทศก่อนถึงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือการประชุม “COP21” ที่จะจัดขึ้นในวันจันทร์ (30 พฤศจิกายน) นี้ที่กรุงปารีส โดยมีบุคคลสำคัญระดับประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาลจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการฝรั่งเศสมีขึ้นหลังจากที่กรุงปารีสต้องเผชิญกับเหตุโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายอย่างน้อย 6 จุดที่ผ่านมา ใจกลางกรุงปารีส รวมถึงที่ย่านชานเมืองอย่าง “แซงต์-เดอนีส์” ที่อยู่ทางตอนเหนือ
หลังเกิดเหตุไม่นาน ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศสได้ออกมาประณามกลุ่มผู้ก่อเหตุ โดยระบุเหตุก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างจาก “การประกาศสงคราม” กับฝรั่งเศสโดยตรง พร้อมทั้งมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งกลายเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้งของฝรั่งเศส หลังจากประกาศใช้ก่อนหน้านี้ในเหตุจลาจลเมื่อปี 2005 ยิ่งไปกว่านั้น นี่ยังถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการประกาศ “เคอร์ฟิว” ในกรุงปารีส ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งแสงสี และเป็นเมืองหลวงที่ “มิเคยหลับ” เท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิในการเดินทางของประชาชนในทันที
หลังเกิดเหตุ กลุ่ม ISIL ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุดังกล่าว ทำให้ฝรั่งเศสเริ่มปฎิบัติการเหวี่ยงแห โดยยกกำลังบุกตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยทั่วประเทศเกือบ 170 แห่ง จับ 23 คนไปสอบสวนตามเงื่อนไขกฎหมายพิเศษ และยังสั่งกักบริเวณประชาชนอีกกว่า 100 ราย
ขณะที่นายกรัฐมนตรีมานูเอล วาลส์ ออกมาขู่ว่าฝรั่งเศสอาจถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมี และชีวภาพ โดยเป็นการกล่าวต่อสภาเพื่อขอการอนุมัติในการต่ออายุประกาศภาวะฉุกเฉินอีก 3 เดือน
ด้วยวิธีการลอบเข้ายุโรปของกลุ่ม ISIL สอดคล้องกับที่เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่ามีสมาชิกบางส่วนได้แฝงตัวเข้ายุโรปโดยปะปมมากับผู้ลี้ถัยชาวซีเรีย ได้ส่งผลกระทบให้บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองในหลายประเทศทั่วยุโรป เริ่มหันมาทบทวนท่าทีและจุดยืนของตนต่อบรรดาผู้ลี้ภัยจำนวนนับล้านที่ไหลบ่าจากซีเรีย เอเชียกลาง รวมถึงทวีปแอฟริกาเข้าสู่ยุโรปตลอดระยะเวลาขวบปีที่ผ่านมา
โดยรัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปตะวันออกได้แสดงจุดยืนคัดค้านการรับผู้ลี้ภัยตามการจัดสรรโควตาของสหภาพยุโรป (อียู) มาโดยตลอด ต่างพากันออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นกว่าเดิม และประกาศไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเข้าสู่ประเทศของตนอย่างเด็ดขาดส่งผลกระทบโดยตรงโดยเฉพาะผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่หนี้สงครามกลางเมืองจากการไล่ฆ่าของกลุ่ม ISIL กลุ่มชีอะห์ และการทิ้งระเบิดโจมตีของรัสเซียในปัจจุบัน
ทั้งนี้หลังจากเหตุโจมตีปารีส ฝรั่งเศสได้เปิดฉากโจมตีในอิรักและซีเรียอย่างหนัก โดยอ้างว่าโจมตี ISIL โดยหนึ่งในเป้าหมายที่ถูกโจมตีโดยฝรั่งเศสเมื่อวันพุธที่ผ่านมาคือ โรงเรียนประถม Fatima Zahra ในเมืองโมซุลของอิรัก ทำให้เด็กนักเรียน 28 คนเสียชีวิต