ผลสอบเผย“แอร์เอเชีย QZ8501”ตกในทะเลจากระบบควบคุมหางเสือ-นักบินตัดสินใจพลาด

ข้อบกพร่องในระบบควบคุมหางเสือ (rudder) และการตัดสินใจที่ผิดพลาดของนักบิน คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เที่ยวบิน QZ8501 ของแอร์เอเชีย อินโดนีเซีย ประสบอุบัติเหตุตกกลางทะเลชวาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตยกลำ 162 ราย คณะผู้ตรวจสอบอุบัติเหตุของอินโดนีเซียแถลงวันอังคาร (1 ธันวาคม)

เที่ยวบิน QZ8501 ร่วงลงสู่มหาสมุทรท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย หลังออกเดินทางจากเมืองสุราบายามุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม

คณะกรรมการความปลอดภัยขนส่งแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำหลายครั้งกับระบบควบคุมแผ่นหางเสือทำให้นักบินแอร์เอเชียตัดสินใจปิดระบบบินอัตโนมัติ (autopilot) ท่ามกลางพายุ และพยายามแก้ไขข้อบกพร่อง ก่อนที่แอร์บัส A320-200 ลำนี้จะสูญเสียการควบคุมและร่วงลงสู่ทะเล

ผลการสอบสวนอุบัติเหตุฉบับสมบูรณ์ชี้ว่า โลหะเชื่อมในอุปกรณ์ควบคุมการเคลื่อนไหวของแผ่นหางเสือ (Rudder Travel Limiter) เกิดการแตกหัก ทำให้ระบบส่งสัญญาณเตือนซ้ำๆ ไปยังนักบินตลอดเวลา

เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนครั้งที่ 4 นักบินได้ดึงเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่อยู่ในแผงควบคุมการบินเพื่อรีเซตระบบใหม่ ทว่าการทำเช่นนี้ส่งผลให้ระบบบินอัตโนมัติถูกปิดไปด้วย เครื่องบินจึงเสียการทรงตัว

“การตัดสินใจของลูกเรือส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมเครื่องบินไว้ได้” รายงานเผย

แอร์บัสลำนี้ “ตกอยู่ในภาวะปีกไม่มีแรงยก (stall) เป็นเวลานานเกินกว่าที่นักบินจะกู้สถานการณ์กลับคืนมา”

ผลการสอบสวนระบุด้วยว่า ข้อมูลที่ได้จากกล่องดำ “ไม่บ่งชี้” ว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายภายนอกส่งผลกระทบต่อเครื่องบิน

เมื่อตรวจดูประวัติซ่อมบำรุงของเครื่องบินลำนี้พบว่า ระบบควบคุมหางเสือเคยเกิดปัญหามาแล้วถึง 23 ครั้งในรอบ 12 เดือน

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียเคยออกมาเปิดเผยว่า นักบิน QZ8501 นำเครื่องไต่ระดับความสูงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเกิดภาวะเสี่ยงร่วงหล่นเนื่องจากสูญเสียแรงยก (aerodynamic stall) และดิ่งลงสู่ท้องทะเลเบื้องล่าง ขณะที่พนักงานสอบสวนคนหนึ่งก็ระบุว่ามีเสียงสัญญาณเตือน “ดังลั่น” ระหว่างที่นักบินพยายามประคองเครื่องไว้ให้ได้

ทีมสืบสวนอินโดนีเซียยังระบุด้วยว่า แอร์บัสลำนี้ร่วงดิ่งลงสู่ทะเลระหว่างที่นักบินผู้ช่วยชาวฝรั่งเศส เรมี พลีเซล เป็นคนควบคุมเครื่อง แทนที่จะเป็นกัปตัน อีริยันโต ซึ่งเป็นอดีตนักบินเครื่องบินขับไล่ที่มีประสบการณ์สูง และผ่านชั่วโมงบินมาแล้วถึง 20,000 ชั่วโมง

นานาชาติได้ส่งเรือและเครื่องบินช่วยกันติดตามหาซากแอร์บัสที่จมอยู่ก้นทะเล รวมถึงศพผู้โดยสารเคราะห์ร้าย ทว่า ปฏิบัติการค้นหาเต็มไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากกระแสน้ำที่ปั่นป่วนและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ท้ายที่สุดทางการอินโดนีเซียต้องยุติการค้นหาทั้งที่ยังไม่พบร่างผู้โดยสารอีก 56 ราย

ความคิดเห็น

comments