นักวิจัยไทยพบปลาขั้วโลกใต้มีพยาธิ เพนกวินอาจสูญพันธุ์จากภาวะ “โลกร้อน”

นักวิจัยขั้วโลกใต้ชาวไทยชี้ “ภาวะโลกร้อน” ทำปลาแอนตาร์กติกตะกละขึ้น เหตุอาหารมีน้อยลงหากินได้ไม่สม่ำเสมอ แถมพบพยาธิบนตัวปลาอื้อหลังวิจัย 10 ปีก่อนไม่เคยเจอ แย้มเกรงเพนกวินอเดลลีสูญพันธุ์หลังผลวิจัยญี่ปุ่นชี้เพนกวินเกิดใหม่มีโอกาสรอดแค่ 10%

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยไทยผู้มีโอกาสเดินทางไปวิจัยที่ขั้วโลกใต้ถึง 2 ครั้ง เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่าขั้วโลกใต้มีสัญญาณบ่งบอกถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนอกเหนือจากเรื่องน้ำแข็งละลายที่คนส่วนใหญ่ได้ยิน

“จากการเดินทางไปทวีปแอนตาร์กติก 2 ครั้ง คือเมื่อ 5 ปีก่อนด้วยทุนเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ของลอรีอัลกับยูเนสโกและทุนสถานีวิจัยขั้วโลกญี่ปุ่น และปีที่แล้วในโครงการของสมเด็จพระเทพฯ เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับปลา เราพบสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 2 อย่าง อย่างแรกคือ พฤติกรรมการกินของปลาที่เปลี่ยนไป อย่างที่สองคือเราพบปรสิตภายนอกบนตัวปลา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่โลกควรรู้ เพราะเมื่อ 10 ปีก่อนที่ รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานจากสถาบันเดียวกันได้เคยศึกษาไว้ ไม่พบว่าปลาขั้วโลกใต้มีพฤติกรรมเช่นนี้ และปัญหาพวกนี้น่าจะเป็นผลที่เกิหดจากภาวะโลกร้อน” ผศ.ดร.สุชนาชี้ปัญหา

จากที่เคยมีข้อมูลเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ปกติปลาขั้วโลกใต้จะกินแต่ “กุ้งเคย” เป็นอาหาร แต่เมื่อลองสังเกตพฤติกรรมการกินในช่วง 5 ปีหลัง พบว่า ปลาเริ่มมีพฤติกรรมกินปลาด้วยกันเอง ที่แม้จะเป็นปลาที่ตัวเล็กกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมากในธรรมชาติ โดยงานวิจัยหลักๆ ในภาคสนาม ของ รศ.ดร.สุชนาทั้งสองครั้งเป็นการเก็บตัวอย่างปลาทั้งขนาดเล็ก, กลาง และใหญ่ ใต้แผ่นน้ำแข็งอันหนาวเหน็บของขั้วโลกใต้ และนำมาแช่แข็งรักษาสภาพด้วยความเย็นไว้ก่อนจะนำกลับมาผ่าท้องพิสูจน์ใต้กล้องจุลทรรศน์ที่ภาควิชาฯ ในกรุงเทพมหานคร และสถาบันวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นและจีน

“เราเก็บตัวอย่างปลากว่า 60 ตัวทั้งปลาแอนตาร์กติกสีเงิน, ปลาหินแอนตาร์กติก ทั้งขนาดเล็กและใหญ่มาผ่าดู พบว่าในท้องปลา มีทั้งหอย, หมึก, หมึกยักษ์ รวมถึงเศษซากสัตว์ทะเลอื่นๆ และที่มากไปกว่านั้นคือเรายังพบอาหารที่ทุกส่วนของระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ปากถึงลำไส้ด้วย ลักษณะเหมือนกินตุนไว้แบบคนตะกละ ซึ่งอาจจะเป็นพฤติกรรมที่ปรับให้เข้ากับปริมาณอาหารที่มีน้อยลง” รศ.ดร.สุชนาตั้งข้อสันนิษฐาน

ทั้งนี้ บริเวณที่ รศ.ดร.สุชนาเคยศึกษานั้นเป็นบริเวณที่น้ำแข็งละลาย กุ้งเคยจึงมีปริมาณลดลง พออาหารหายากขึ้น และคาดว่าเพื่อให้มีชีวิตรอดต่อไปปลาจึงจำเป็นต้องกินทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อสะสมพลังงานไว้ จากเดิมที่จะกินก็ต่อเมื่อหิว กลายเป็นปลาตะกละ จึงเห็นว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปดังกล่าว น่าจะเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าสภาพภูมิอากาศในขั้วโลกใต้มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลวิจัยทั้งหมดตอนนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิจัยนานาชาติเรียบร้อยแล้วและนับเป็นข้อมูลวิจัยใหม่ของโลก

ส่วนการเดินทางไปขั้วโลกใต้ครั้งที่ 2 ด้วยทุนโครงการวิจัยขั้วโลกใต้ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กระทิงแดงและลอรีอัล ที่ทำร่วมกับประเทศจีนเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา รศ.ดร.สุชนา เผยว่าได้พบเรื่องที่น่าเป็นกังวลกว่า เพราะพบปรสิตปลาเป็นจำนวนมากเกาะอยู่ที่ด้านนอกของตัวปลา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาแอนตาร์กติกกำลังถูกโจมตีจากเชื้อโรค เนื่องจากโดยปกติพยาธิภายนอก (Ectoparasite) จะเจริญได้ดีเฉพาะในน้ำอุ่นเท่านั้น และไม่เคยมีประวัติการพบพยาธิภายนอกของปลาในทะเลเขตหนาว ซึ่งเป็นอีกดัชนีหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิน้ำทะเลในขั้วโลกใต้กำลังเพิ่มสูงขึ้นจนพยาธิเจริญเติบโตได้

“คือปลาทะเลน้ำอุ่นปกติโอกาสพบพยาธิยังมีน้อยเลย แต่นี่ที่ขั้วโลกกลับพบ มันเป็นอะไรที่บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้ดีมาก แล้วปลาแต่ละตัวก็ไม่ได้มีพยาธิตัวเดียว บางตัวถูกพยาธิเกาะเป็นสิบ แล้วพยาธิก็ตัวใหญ่มาก ทำให้สถานการณ์ปลาที่นู่นเริ่มน่าเป็นห่วง เพราะถึงแม้เราจะยังไม่ได้ศึกษาว่าพยาธิที่เกาะเป็นชนิดอะไร ส่งผลเสียต่อปลาอย่างไร แต่มันไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน เพราะมันมาเกาะเแล้วดูดเลือดปลา แล้วเราก็ยังไม่ทราบด้วยว่ามันมีระบาดไปที่สัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เพราะเราทำแค่ในปลา แต่ในอนาคตอาจจะขยายต่อไปอีก ซึ่งผลการวิจัยเรื่องนี้เสร็จแล้วและคาดว่าจะได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิจัยระดับนานาชาติประมาณปีหน้า” รศ.ดร.สุชนาเผยแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ รศ.ดร.สุชนา ยังเผยด้วยว่า จากวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มประชากรเพนกวินของนักวิจัยญี่ปุ่นและจีนในโครงการศึกษาผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทวีปแอนตาร์กติกาก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะผลการนับจำนวนเพนกวินสายพันธุ์อเดลลีทั้งตัวเต็มวัยและตัวลูกระบุว่า ลูกเพนกวินเกิดใหม่มีอัตราการรอดไม่ถึง 10% จากปกติมีสูงถึง 50% เพราะน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกหนาขึ้น ทำให้พ่อแม่เพนกวินต้องเดินออกไปหาอาหารไกลขึ้น ลูกเพนกวินที่ทนหิวไม่ไหวหรือทนหนาวไม่ไหวจึงต้องตายลงก่อนที่พ่อแม่จะกลับมา

“โลกร้อนไม่ได้ทำให้น้ำแข็งละลายอย่างเดียว แต่มันยังทำให้แถบผืนทวีปแอนตาร์กติกามีอากาศที่หนาวเย็นขึ้นจนน้ำแข็งหนาขึ้นอีกมากด้วย พอน้ำแข็งหนาขึ้นพ่อเพนกวินจึงต้องเดินออกไปหาอาหารให้แม่และลูกไกลขึ้น เมื่อพ่อกลับมาช้าแม่จึงออกไปหาแทน ทำให้ต้องทิ้งลูกอยู่ตัวเดียว พอไปอยู่ที่นั่นเราจึงเห็นลูกเพนกวินนอนแข็งตายเป็นระยะ เป็นภาพที่น่าหดหู่ แต่ก็เป็นเครื่องเตือนเราได้อย่างดีว่าขณะนี้โลกร้อนมันกำลังคุกคามโลกมากขึ้น และเราจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน” รศ.ดร.สุชนา กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ความคิดเห็น

comments