อองซานซูจีหารือประธานาธิบดีเต็งเส่งถึงการถ่ายโอนอำนาจอย่างราบรื่นให้กับพรรคของเธอในวันนี้ (2) นับเป็นการพบกันครั้งแรกตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนพ.ย.
เมื่อคณะบริหารชุดใหม่เข้าสาบานตนในต้นปีหน้า ก็จะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2503 ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจะเข้าบริหารประเทศที่เสียหายจากการปกครองของทหารนานหลายทศวรรษ
แต่ความสัมพันธ์ที่ใช้การได้กับทหารที่คงอำนาจ จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับซูจี ในขณะที่พรรคของเธอพยายามจะเปิดตัวอย่างราบรื่นในรัฐบาล
หนึ่งในความเคลื่อนไหวแรกๆ หลังชนะการเลือกตั้งของซูจี คือการขอเจรจาปรองดองกับเต็งเส่งและพล.อ.มิน ออง หล่าย ที่กองทัพควบคุมกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และกิจการชายแดน ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นก่อนสิ้นสุดการปกครองของทหารนานครึ่งศตวรรษ
ซูจีปิดห้องหารือโดยไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟังกับเต็งเส่งที่บ้านพักของเต็งเส่งในกรุงเนปีดอ และการหารือนาน 45 นาที ส่วนใหญ่มุ่งประเด็นไปที่การถ่ายโอนอำนาจ ตามการเปิดเผยของ เย ตุ๊ต โฆษกประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร
หลังเสร็จสิ้นการหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่งในช่วงเช้า ซูจีและพล.อ. มิน ออง หล่าย ได้พบหารือร่วมกันราว 1 ชั่วโมงในบ่ายวันเดียวกัน (2) ที่สำนักงานของผู้บัญชาการทหารในกรุงเนปีดอ โดยไม่มีผู้ช่วยเข้าร่วม
พล.อ.มิน ออง หล่าย ยิ้มและกล่าวถึงการหารือที่เกิดขึ้นขณะนั่งอยู่ในรถก่อนที่รถจะเคลื่อนออกไปว่า “เป็นการพูดคุยที่ดีมาก”
การพบหารือกันครั้งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ สำหรับช่วงเวลา 2 ทศวรรษ ที่กองทัพกลั่นแกล้งซูจีและพรรค NLD หลังปฏิเสธชัยชนะของพรรคในการเลือกตั้งปี 2533 แต่ในตอนนี้ทั้งสองฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน โดยพรรค NLD จะตั้งรัฐบาล ขณะที่กองทัพเป็นผู้ควบคุมกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และกิจการชายแดน ตามรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นก่อนสิ้นสุดการปกครองของตัวเองนานครึ่งศตวรรษในปี 2553
ส่วนอองซานซูจีไม่ได้แสดงความเห็นถึงการพบหารือที่เกิดขึ้นในวันนี้
“เราเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างสองฝ่าย พวกเขามุ่งเน้นเรื่องการถ่ายโอนความรับผิดชอบรัฐต่อรัฐบาลอนาคตอย่างสันติและราบรื่น ที่จะร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ประชาชน” เย ตุ๊ต กล่าวในการแถลงข่าว
เย ตุ๊ต กล่าวว่าการถ่ายโอนไปยังประธานาธิบดีคนใหม่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
รัฐธรรมนูญพม่ามีแนวโน้มที่จะเป็นประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างพรรค NLD และกองทัพ รัฐธรรมนูญได้จัดสรรอำนาจระหว่างกองทัพและพรรครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงขนาดของอาณัติประชาชน
กองทัพอ้างเหตุผลว่าเป็นความจำเป็นที่จะปกป้องประชาธิปไตยและรักษาความสงบสุข ซึ่งหมายความว่าพรรค NLD จะต้องการการสนับสนุนจากทหารในการปกครองประเทศที่ด้อยพัฒนา ที่ระบบราชการยังล้าสมัย โครงสร้างพื้นฐานย่ำแย่ และภาคการศึกษาและสาธารณสุขที่อ่อนแอ
ซูจีต้องการทำงานกับกองทัพ แต่ก็มีความชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการที่จะแก้ไขบางส่วนของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบทบัญญัติที่ห้ามซูจีทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีเพราะทายาทของเธอเป็นชาวต่างชาติ
เย ตุ๊ต กล่าวว่า การแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ถูกยกขึ้นหารือและจะขึ้นอยู่กับรัฐสภาชุดใหม่ที่จะพิจารณาตัดสิน
ยังไม่ชัดเจนว่าพรรค NLD วางแผนที่จะก้าวอย่างระมัดระวังเมื่อเข้าบริหารประเทศ หรือจะเสี่ยงด้วยการผลักดันการลดบทบาททางการเมืองของกองทัพอีกครั้ง ซึ่งกองทัพครองที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในสภาตามรัฐธรรมนูญ และมีสิทธิยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งเต็งเส่งและพล.อ.มิน ออง หล่าย ได้รับรองชัยชนะการเลือกตั้งและเสนอความช่วยเหลือสนับสนุนการโอนถ่ายอย่างราบรื่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ระหว่างเดือนก.พ. และเดือนเม.ย. ปีหน้า ที่ช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายที่อาจเป็นไปได้
ซูจีมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นต่อกองทัพนับตั้งแต่เป็นสมาชิกรัฐสภา แต่การพบหารือของเธอกับพล.อ. มิน ออง หล่าย มีขึ้นหลังเธอพูดค้านพล.อ. มิน ออง หล่าย ในเดือนมิ.ย. ถึงการมีอิทธิพลต่อสมาชิกสภาที่เป็นนายทหาร หลังกลุ่มดังกล่าวมีมติอย่างพร้อมเพรียงกันที่จะรักษาอำนาจยับยั้งของตัวเองไว้ ซึ่งซูจีพูดว่า “เขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แล้วทำไมเขามีสิทธิที่จะตัดสินใจ?”
ขอบคุณ MGR Online