ตุรกียืนยันความชอบธรรมในหน้าที่ต้องปกป้องทหารของตนที่ส่งไปช่วยฝึกและให้คำแนะนำกองกำลังชาวเคิร์ดในอิรักรอบๆ เมืองโมซุล เมืองสำคัญอันดับสองของอิรักที่ถูก ISIL ยึดครองมายาวนาน และอิรักเคยร้องขอให้รัสเซีย โจมตีทางอากาศในพื้นที่เพื่อขับไล่ ISIL ขณะที่มีกองกำลังชีอะห์อิหร่านปฎิบัติการในภาคพื้นที่ แต่การส่งทหารเข้ามาเพื่อช่วยปลดปล่อยเมืองดังกล่าวกลับถูกอิรักกำหนดเส้นตาย 48 ชั่วโมงให้ตุรกีถอนทหารที่ส่งเข้าไปโดยพลการ ไม่เช่นนั้นอาจใช้มาตรการตอบโต้ทั้งหมดที่มี ซึ่งรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น
นายกรัฐมนตรีอะหมัด ดาวูโตกลูของตุรกี แจ้งไปในจดหมายที่ส่งถึงไฮเดอร์ อัล-อบาดี ผู้นำอิรัก เมื่อวันอาทิตย์ (6) ว่าจะไม่ส่งกำลังเข้าสู่อิรักเพิ่มจนกว่าความกังวลของรัฐบาลอิรักจะคลี่คลายลง แต่ไม่กล่าวถึงกองกำลังที่ส่งไปแล้วแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตุรกีมีฐานปฏิบัติการในบริเวณบาชิกาในจังหวัดไนเนเวห์เพื่อฝึกอาสาสมัครชาวมุสลิมของอิรักที่หมายมั่นชิงเมืองโมซูลคืนจาก ISIL
จดหมายของดาวูโตกลูยังสรุปความคืบหน้าในการฝึกการรบที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงภารกิจและกิจกรรมของกองกำลังตุรกีในฐานปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยการประสานงานกับกระทรวงกลาโหมอิรัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเสาร์ (5) ดาวูโตกลูพยายามลดกระแสความขัดแย้งโดยกล่าวว่า การส่งทหารไปประจำการณ์เป็น “กิจกรรมการหมุนเวียนกำลังพลปกติ” ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจฝึกกองกำลังในอิรักเพื่อต่อต้านกลุ่ม ISIL และ “การเสริมกำลังเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัย” และยืนยันว่า ไม่มีการตั้งค่ายใหม่
วันอาทิตย์ คาลิด อัล-โอไบดี รัฐมนตรีกลาโหมอิรัก ต่อสายคุยกับอิสเมด ยิลมาซ รัฐมนตรีกลาโหมตุรกี เพื่อขอให้ถอนกำลังออกไป ทว่า ได้รับคำตอบจากยิลมาซว่า กองกำลังดังกล่าวมีหน้าที่ปกป้องครูฝึกตุรกี แต่โอไบดีแย้งกลับไปว่า จำนวนทหารที่ส่งมาเกินความจำเป็น
วันเดียวกันนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีอิรักออกแถลงการณ์ความว่า หากตุรกียังไม่ถอนกำลังออกไปภายใน 48 ชั่วโมง อิรักมีสิทธิ์ใช้ทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงการขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
แถลงการณ์ยืนยันว่า กองกำลังตุรกีเคลื่อนเข้าสู่อิรักโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือแจ้งให้รัฐบาลอิรักรับรู้ จึงถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของอิรัก
ทว่า เมื่อวันจันทร์ (7) เมฟลัต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ให้สัมภาษณ์สถานีทีวีท้องถิ่นว่า อบาดีเฝ้าเรียกร้องให้ตุรกีให้การสนับสนุนในการกวาดล้าง ISIL อย่างจริงจังมากขึ้น และเขาเชื่อว่า ประเทศอื่นๆ ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวของอิรักเช่นเดียวกับตุรกี พร้อมย้ำว่า ตุรกีมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยทหารที่ส่งไปช่วยฝึกกองกำลังในอิรัก
ความสัมพันธ์ระหว่างแบกแดดกับอังการาดีขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังคงปีนเกลียวจากการที่ตุรกีคบค้ากับเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดในอิรัก และเห็นต่างกันในสงครามกลางเมืองซีเรีย
นายกรัฐมนตรี อบาดี ของอิรักอ้างว่า อิรักต้องการความช่วยเหลือในการรบกับ ISIL แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการรับการสนับสนุนกับการปกป้องอธิปไตยของชาติ