ผบ.สส.พม่าร้องไทยทบทวนคำตัดสินประหาร 2 นักโทษฆ่านักท่องเที่ยวเกาะเต่า

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ได้เรียกร้องต่อฝ่ายไทยให้ทบทวนคำตัดสินประหารชีวิตต่อ 2 พลเมืองของประเทศ จากคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษหลังการพิจารณาคดีทำให้เกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้ง

หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานวันอาทิตย์ (27 ธันวาคม) ว่า พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ได้ขอให้ไทยทบทวนหลักฐานต่อชายชาวพม่าทั้ง 2 คน

ซอ ลิน และวิน ซอ ตุน พบว่า มีความผิดเมื่อวันพฤหัสบดี (24) จากการสังหาร นายเดวิด มิลเลอร์ อายุ 24 ปี และจากการข่มขืน และสังหาร น.ส.ฮันนาห์ วิเทอริดจ์ อายุ 23 ปี ซึ่งพบร่างของทั้งคู่บนชายหาดเกาะเต่าในเดือน ก.ย.ปีก่อน

เหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นทำให้ชื่อเสียงของไทยในฐานะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวต้องแปดเปื้อน และก่อให้เกิดคำถามต่อระบบยุติธรรมของประเทศ หลังทนายฝ่ายจำเลยได้กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดพลาดในการสืบสวน และใช้แรงงานพม่าเป็นแพะรับบาป อันเป็นข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธ

คำตัดสินโทษต่อชายชาวพม่าทั้ง 2 คน สร้างความไม่พอใจต่อชาวพม่า และนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตไทยในนครย่างกุ้ง และตามด่านชายแดนของสองประเทศ

หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ระบุว่า พล.อ.มิน ออง หล่าย แสดงความวิตกต่อคำตัดสินในข้อความปีใหม่ที่มีต่อผู้นำรัฐบาลทหารของไทย รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

“ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้แสดงความเคารพต่อกระบวนการทางศาลของไทย ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ผู้บริสุทธิ์ถูกลงโทษอย่างผิดพลาด” หนังสือพิมพ์พม่ารายงาน

คำแถลงดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะที่ผู้นำอาวุโสของพม่าไม่พอใจต่อคำตัดสินของศาลไทย ท่ามกลางความเห็นอกเห็นใจต่อชาวพม่า 2 คน ที่ถูกกล่าวหาในบ้านเกิดของพวกเขา

ผู้ชุมนุมประท้วงในพม่ากำลังวางแผนที่จะชุมนุมครั้งใหม่ด้านนอกเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้งในบ่ายวันนี้ (27)

อัยการ และตำรวจของไทยยืนยันหลักฐานของพวกเขาต่อแรงงานชายชาวพม่า 2 คน รวมทั้งดีเอ็นเอที่พบในร่างของวิเทอริดจ์ และในการแถลงข่าววันนี้ (27) ตำรวจไทยยืนยันการสืบสวนของพวกเขาว่าเปิดเผยตรงไปตรงมา

“เรายืนยันว่าการสืบสวนของเราเป็นไปด้วยความโปร่งใส และสอดคล้องตามมาตรฐานสากล” พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว

แต่ทนายฝ่ายจำเลยที่ให้คำมั่นว่าจะอุทธรณ์คำตัดสิน โต้แย้งหลักฐานทางนิติเวช โดยระบุว่า หลักฐานถูกรวบรวม และดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง พวกเขายังกล่าวหาตำรวจไทยทรมานลูกความของพวกเขาให้ลงชื่อรับสารภาพ ซึ่งได้ถอนคำรับสารภาพในภายหลัง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ตำรวจไทยมีประวัติยาวนานถึงการใช้วิธีทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ขณะที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า คดีเกาะเต่าสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของแรงงานต่างด้าวค่าแรงถูกจากประเทศเพื่อนบ้านถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมในไทยที่ระบบยุติธรรมโน้มเอียงได้ง่ายจากอำนาจ และความร่ำรวย

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยได้รับการรับรองจากครอบครัวของมิลเลอร์ ที่สนับสนุนคำตัดสิน ระบุว่า พวกเขาเชื่อว่าหลักฐานต่อผู้ถูกกล่าวหา 2 คน นั้นมีความชัดแจ้ง

ส่วนศาลเกาะสมุย ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานจำเลย และในวันเสาร์ (26) ซอ ลิน และวิน ซอ ตุน ได้ถูกย้ายตัวไปควบคุมในเรือนจำที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงใน จ.นครศรีธรรมราช และแม้ว่าไทยยังคงโทษประหารชีวิตไว้ แต่การประหารก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ความคิดเห็น

comments