ศาลพม่าตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวหญิงคนหนึ่งเป็นเวลา 6 เดือน วันจันทร์ (28 ธันวาคม) ฐานโพสต์ข้อความเสียดสีกองทัพลงบนเฟซบุ๊ก ในการปราบปรามครั้งล่าสุดต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในประเทศที่เคยปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร
เสรีภาพในพม่าเฟื่องฟูขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหารยกอำนาจการควบคุมเต็มรูปแบบให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554 ที่ส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งครั้งสำคัญในเดือน พ.ย.
แต่ยังคงมีความวิตกอยู่มากเกี่ยวกับการละเมิดเสรีภาพของประชาชนรอบใหม่ ที่การวิพากษ์วิจารณ์กองทัพซึ่งยังมีอำนาจยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยง
ชอ ซานดี ตุน อายุ 25 ปี ถูกจับกุมในเดือน ต.ค. หลังโพสต์ข้อความล้อกองทัพทหารลงในหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง
“ลูกสาวของฉันถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน ที่ศาลเมืองมาอูบินเช้านี้ ตามมาตรา 66(d) ของกฎหมายโทรคมนาคม เราจะยื่นอุทธรณ์เพราะเราไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น” เอ ซาน แม่ของชอ ซานดี ตุน กล่าว
เอ ซาน อ้างถึงกฎหมายที่ใช้คำอย่างกว้างๆ ระบุห้ามการหมิ่นประมาท หรือรบกวนผู้อื่นผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมใดๆ ซึ่งโทษสูงสุดคือ การจำคุก 3 ปี
ทนายความของซานดี ตุน ยืนยันถึงคำตัดสินแต่ระบุว่า ลูกความของเขาปฏิเสธการโพสต์ข้อความ
“เธอบอกว่าบัญชีเฟซบุ๊กของเธอถูกแฮกหลายครั้ง และเธอไม่ได้เป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว” โรเบิร์ต ซาน อ่อง กล่าว
ข้อความที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กได้เปรียบเทียบสีของเครื่องแบบใหม่ของเจ้าหน้าที่ทหารกับลองยี (กระโปรง) ที่อองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย สวม
สถานทูตสหรัฐฯ ได้เรียกร้องก่อนหน้านี้ถึงการปล่อยตัวชอ ซานดี ตุน และแพททริค คุม จา ลี นักเคลื่อนไหวอีกรายหนึ่งที่ถูกจับเนื่องจากโพสต์ข้อความวิจารณ์ทหารบนเฟซบุ๊ก
พม่า เดินทางมายาวไกลนับตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารหลายทศวรรษที่ไม่ทนต่อการเห็นต่าง จำคุกนักวิจารณ์ และปิดประเทศในขณะที่เศรษฐกิจประเทศทรุดตัวลง
รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้าแทนที่รัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 ได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางจากการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ทำให้ต่างชาติคลายมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายที่นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในประเทศที่ในช่วงเวลาเพียง 5 ปีก่อน การเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายพันดอลลาร์
แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพ และรัฐบาลที่กองทัพให้การสนับสนุนถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า กำลังหวนกลับไปใช้วิธีปราบปรามแบบยุครัฐบาลเผด็จการทหาร
ในเดือน ก.พ. ช่างภาพอิสระรายหนึ่งถูกจับกุมตัวจากการโพสต์เสียดสีทหารบนเฟซบุ๊ก และในเดือน ต.ค.2557 นักข่าวอิสระอีกรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารในคดีที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยกขึ้นหารือระหว่างการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ